3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ส่งหนังสือถึง "อรรชกา" ให้ทบทวนการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ หลังมีความชัดแย้งระหว่างโรงงานและชาวไร่ แบ่งปันผลประโยชน์จากผลพลอยได้ยังไม่ลงตัว ขณะที่สอน.วอนขอเพื่อประเทศ เร่งสรุปกรอบกว้างๆ ให้ได้ก่อน ใช้เจรจาต่อรองกับทางบราซิลเดินทางมาไทย 13 ก.ย.นี้ หวังยุติการฟ้อง WTO
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ประกอบด้วยสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ยื่นหนังสือถึง ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้คัดค้านและเสนอข้อคิดเห็นการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นสวนหนึ่งในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ และกำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีบางมาตรายังนำไปสู่ข้อขัดแย้ง ที่ยังไม่เป็นข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการแก้ไขคำนิยามของผลพลอยได้ โดยให้รวมกากอ้อย และกากตะกอนกรอง นอกเหนือจากเดิมที่กำหนดเพียงกากน้ำตาลไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องนำรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้ดังกล่าวมาเข้าระบบแบ่งให้กับชาวไร่ ทางโรงงานเห็นว่าไม่เกิดความยุติธรรม เนื่องจากกากอ้อยถือเป็นการรับซื้ออ้อยที่ได้จ่ายไปแล้ว อีกทั้ง บางโรงงานไม่มีปริมาณกากอ้อยเพียงพอที่จะนำไปจำหน่ายได้ เพราะใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับโรงงานก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่กากตะกอนกรอง ถือเป็นสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนมากับอ้อย ถือเป็นกากของเสียที่ต้องกำจัด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการนำไปทำปุ๋ย สร้างรายได้ แต่โรงงานต้องเป็นผู้ลงทุนเอง ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมเกิดขึ้น
อีกทั้ง การแก้ไขบทนิยามน้ำตาลทรายให้ครอบคลุมถึงน้ำอ้อย ที่จะนำไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งยังมีปัญหาว่า ยังไม่สามารถคำนวณราคาน้ำอ้อยที่จะนำไปจำหน่ายในอัตราใด จึงทำให้รายได้ส่วนนี้มีความชัดเจนที่จะนำมาแบ่งปันให้กับชาวไร่ได้
นอกจากนี้ การกำหนดจัดสรรปริมาณน้ำตาลทราย ที่จะให้มีการยกเลิกระบบโควตา ก.ข.และค.รวมทั้ง การยกเลิกควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกตลาด อาจจะขัดกับกฎกติกาการค้าโลก เป็นต้น ดังนั้น ในช่วงระหว่างรับฟังความคิดเห็นอยู่นี้ จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงมาพิจารณาในปัญหาต่างๆ ว่าสมควรจะต้องมีการแก้ไขหรือไม่
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 แล้ว จากที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ของสอน.ได้หารือกันมา 27 ครั้ง ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งกลุ่มของโรงงานน้ำตาลจะไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขบางมาตราก็ตาม ในขณะที่ชาวไร่ก็อยากจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จะทำอย่างไรจึงจะได้จุดสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ทันภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากคณะทำงานมีเวลาจำกัด ประกอบกับถูกบีบจากประเทศบราซิลที่จะทำการฟ้ององค์การการค้าโลก(WTO) ในการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งปลดล็อกในส่วนนี้ให้ได้ก่อน โดยการเร่งแก้ไขกฎหมาย และจัดทำแผนอนุบัญญัติ เสนอครม.เพื่อเป็นกรอบหรือมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานให้พ้นข้อกล่าวหากจากบราซิล
ในขณะที่ส่วนไหนยังมีปัญหาที่โรงงานและชาวไร่อ้อยยังตกลงกันไม่ได้ เช่น การแบ่งปันผลประโยชน์จากผลพลอยได้ ก็ต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากันในภายหลัง แต่ในเบื้องต้นนี้ขอให้การแก้ไขกฎหมายในกรอบกว้างๆ ให้สามารถเดินไปได้ก่อน
โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน ที่จะถึงนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะชาวไร่กว่า 45 คน จะเดิมทางเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทางสอน.ก็จะจัดเตรียมข้อมูลการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไว้ชี้แจง เพื่อหวังว่าจะได้มีความเข้าใจ และไม่นำไปสู่การฟ้อง WTO รวมถึงไม่ต้องเดินทางไปกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเจรจากับทางบราซิลในวันที่ 15 ตุลาคมนี้
"การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำอ้อย มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกเหนือจากน้ำตาลทราย ประกอบกับมีเรื่องบราซิลจะฟ้อง WTO เข้ามาพอดี จึงมีการแก้ไขข้อกังวลของทางบราซิลเข้าไปด้วย ซึ่งมองว่า หากสามารถสรุปและมีความชัดเจนได้เร็วเท่าใด ก็จะช่วยให้หลุดพ้นจากการฟ้องได้ ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งมาว่า ทางบราซิลจะมีการตั้งคณะผู้พิจารณา เพื่อนำไปสู่ขั้นการไต่สวนแล้ว แต่ก็เปิดช่องให้ฝ่ายไทยเจรจาควบคู่ไปด้วยได้ ดังนั้น เมื่อมีกรอบการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ก็หวังว่าจะทำให้ทางบราซิลถอนฟ้องได้"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559