สแตนลีย์ คัง มุ่งสู่องค์กร 4.0 ด้วย BIG DATA
หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่หลายคนบอกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมอาทิตย์อับแสง ไร้อนาคต หรือ sunset industry สำหรับประเทศไทย สแตนลีย์ คัง ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด และประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เขาคุ้นเคยและเริ่มบุกเบิกมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษนั้นยังไปได้ดีอยู่ และมีอนาคตที่จะเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่ง เพียงแต่ในฐานะผู้นำองค์กร เขามองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ตลอดจนมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่า องค์ประกอบการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว คือการเปิดรับเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด “ผมเชื่อว่า sunset industry นั้นไม่มีหรอก พระอาทิตย์ตกแล้ว ก็ต้องขึ้นใหม่ทุกวัน อุตสาหกรรมที่ย่ำแย่อยู่ไม่ได้จริงๆนั้น เป็นเพราะ sunset mind หรือระบบความคิดที่อับแสงของคนในองค์กรมากกว่า”
แนวคิดการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับนโยบายระดับชาติที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 แต่สำหรับองค์กรธุรกิจของเขา สแตนลีย์ คัง บอกกับเราว่า ขณะนี้เขามาถึงระยะที่ 3.0 ของอุตสาหกรรมแล้ว คือการนำเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิต แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะก้าวถึงระดับ 4.0 ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปีค.ศ. 2018 “หมายถึงการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถผลิตในสิ่งที่คู่แข่งทำไม่ได้ มูลเพิ่มของสินค้าก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ผมเชื่อว่าในอนาคตทุกวงการต้องเป็นอย่างนี้”
ความแตกต่างและทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขัน สแตนลีย์ คัง ผู้บริหารชาวไต้หวันซึ่งอยู่เมืองไทยมาเกือบๆ 30 ปีและสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยอย่างชำนาญ เล่าให้ฟังว่าในอดีตวงการสิ่งทอต้องใช้มือทอ และเมื่อตัดเย็บก็ตัดเย็บตามคำสั่งเฉพาะบุคคล จึงมีราคาแพง แต่เมื่ออุตสาหกรรมก้าวหน้ามาสู่ระบบผลิตด้วยเครื่องจักรกล แน่นอนว่าประโยชน์ที่ได้คือความไว และปริมาณผลิตคราวละมากๆ ต้นทุนถูกลง แต่ความหลากหลายก็น้อยลงด้วยเพราะสายการผลิตต้องผลิตแบบเดียวออกมาปริมาณมาก จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เมื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการสามารถใช้ “ฐานข้อมูล” หรือ Big Data ที่สั่งสมมา ผลิตสินค้าตามสั่ง (custom-made product) เหมือนในอดีตได้ด้วยสายการผลิตที่เป็น mass production เราเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่า โรงงานอัจฉริยะ หรือ intelligent factory”
เราได้ยินกันบ่อยๆว่า สมัยนี้ต้อง work smarter ไม่ใช่จะ work harder อย่างเดียว การทำงานหนักแต่ไม่ชาญฉลาดคงไม่ช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ได้ดีนัก ทางโรงงานสามารถนำฐานข้อมูลการผลิตและฐานข้อมูลลูกค้า มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด “อะไรที่ใช้เครื่องจักรได้ เราพยายามเปลี่ยนเป็นเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพ สำหรับผมความหมายของ innovation หรือนวัตกรรม คือการผลิตสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นและดีขึ้น”
ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ฯ เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานสาขาและฐานการผลิตตั้งอยู่ในหลายประเทศ จากจุดกำเนิดที่ไต้หวัน ค่อยๆขยายสู่ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม คุณสแตนลีย์ยอมรับว่า การเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องพบเจอ สองปีนับจากนี้ องค์กรของเขาเตรียมความพร้อมสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยการเตรียมบุคลากร ฝึกอบรม และบ่มเพาะความคิดที่เปิดกว้าง ทำงานเป็นทีมเวิร์ก สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ยังลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาตลอดเวลาแม้ในยามเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
“สำหรับผมการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี เพราะการเปลี่ยนแปลงเท่ากับการเติบโต สำหรับผม องค์กรในแวดวงการผลิตถ้าจะเติบโตให้ได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนต้องมีปัจจัยประกอบหลายอย่างด้วยกัน และอย่างแรกเลยผมคิดว่า องค์กรของเราต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและทรัพยากร นำฐานข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ย่ำเท้าอยู่กับที่ และเมื่อระบบงานของคุณดีแล้ว ผมเชื่อว่า คุณจะได้ทำงานน้อยลง แต่มีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้น”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559