ประมูลAPMสุวรรณภูมิต.ค.นี้ คาดวงเงินตํ่ากว่า 3 พันล้าน/ไอทีดีจับมือมิตซูฯบิดงาน

22 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
ทอท. เปิดประมูลงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือAPM สนามบินสุวรรณภูมิเฟส2 ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังได้บทสรุปจากหารือนอกรอบกับกรมบัญชีกลาง ที่ไฟเขียวให้ใช้ราคาตลาด โดยอิงจากสนามบินในต่างประเทศ มาเป็นกรอบในการประกวดราคา คาดได้วงเงินต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ชี้มีอย่างน้อย 4 บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ เข้าข่ายมีสิทธิ์เข้าร่วมเสนอตัว ขณะที่ไอทีดี ลั่นควงมิตซูบิชิ บิดงาน

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในขณะนี้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ได้ข้อสรุปถึงรูปแบบการจัดทำราคา ในสัญญางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือAutomated People Mover -APM ซึ่งเป็น 1 ในอีก 4 สัญญาที่เหลือ ของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประกวดราคา โดยทอท.จะใช้ราคาตลาด มาเป็นกลไกในการกำหนดราคากลาง เพื่อหาบริษัทที่สนใจเข้ามาดำเนินการ

เนื่องจากทอท.ได้หารือร่วมกับกรมบัญชีกลางอย่างไม่เป็นทางการ และได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่างานAPM เป็นงานซื้อระบบพร้อมติดตั้ง ไม่ใช่งานก่อสร้าง จึงไม่เข้าระเบียบพัสดุ เรื่องของราคากลาง ดังนั้นการประกวดราคางานAPM จึงจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยจะใช้ราคาตลาดที่จะเทียบเคียงกับงานAPM ในสนามบินต่างประเทศ อาทิ สนามบินฮ่องกง สนามบินดูไบ เนื่องจากสัญญาAPM ในสนามบินของไทย ยังไม่เคยมีมาก่อน

ทั้งนี้จากการใช้ราคาตลาด จะทำให้งานAPM มีแนวโน้มจะได้ราคากลางที่ต่ำกว่าเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมประกวดราคาจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านแอร์ไซด์ภายในสนามบินมาก่อน เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบว่าจากการสำรวจของทอท.พบว่าเบื้องต้นจะอย่างน้อย 4 บริษัท ที่เข้าข่ายจะเข้าร่วมประกวดราคาในสัญญาAPM คือ ซีเมนส์ ,บอมบาเดียร์,มิตซูบิชิ และ IHI ของประเทศญี่ปุ่น โดยในสัญญานี้ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีบริษัทคนไทยเป็นแกนนำในการเสนอตัว เพราะไม่มีบริษัทไทยรายใดทำระบบนี้ได้ แต่เชื่อหาหากบริษัทจากต่างประเทศเหล่านี้สนใจดำเนินธุรกิจในไทย ก็คงไปหาซัพพลายเออร์คนไทย เข้ามาร่วมเสนอตัวในการเปิดประมูล

โดยระบบAPM จะเป็นคล้ายๆกับรถไฟฟ้า แต่จะเป็นการใช้ล้อยาง ควบคุมโดยระบบไม่มีคนขับ วิ่งอยู่ใต้ดินเชื่อมจากอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข D ไปยังอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมระยะทาง 800 เมตร เบื้องต้นรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 7,000 คนต่อชั่วโมง และต้องมีส่วนต่อขยายอุโมงค์ทางด้านทิศใต้ ที่ต้องเผื่อไว้อีก 800 เมตร ซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงระบบ APM ที่ปลายอุโมงค์ และสถานีAPM ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารผู้โดยสารหลังเดิม

"เดิมงานAPM ถูกรวมอยู่ในงานสัญญารับเหมาก่อสร้างสนามบิน แต่ทอท.เล็งเห็นว่าหากนำไปรวมจะเกิดปัญหา เพราะผู้รับเหมาจะไปซื้อระบบมาในราคาต่ำ และจะทำให้ทอท.ต้องรับภาระเรื่องของค่าซ่อมบำรุงที่สูง จึงได้มีการแยกงานAPM ออกมาเพื่อจัดหาซัพพลายเออร์ให้มาดำเนินการจัดซื้อพร้อมติดดั้งระบบดังกล่าว" แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เปิดเผยว่า ทอท.จะดำเนินการประกวดราคางาน APM ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ปี2560 โดยงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบ APM จะเป็นสัญญาที่ใช้ระยะเวลานานที่สุด คือ 33 เดือน หากสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการดังกล่าว จะทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ(ปีงบประมาณ2554-2560) จะเสร็จตามกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2560

นอกจากงานAPM ก็ยังมีงานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ,งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด(EDS) (ขาออก) และงานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น2-4)และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) ที่จะเตรียมการประกวดราคาต่อไป

ส่วนงานที่เปิดประมูลไปแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ กำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 780 วัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2561 ส่วนงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค กำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 990 วัน และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2562

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี กล่าวว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างเตรียมจะเข้าร่วมประกวดราคางานAPM ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยทางไอทีดีฯจะร่วมมือกับทางบริษัทมิตซูบิชิ เพื่อยื่นเสนอประกวดราคาในงานดังกล่าว ทั้งยังมองการเข้าร่วมประมูลงานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย)ด้วย หลังจากไอทีดีฯก็ได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1(ชั้นB2 ชั้นB1และชั้นG) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในอีก 2 ปีจากนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559