ล่าสุดทาง “กระทรวงคมนาคม” ได้มอบหมายให้ “กรมขนส่งทางบก” พิจารณาให้รถขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ ขสมก., รถร่วมบริการ ขสมก. และรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปลี่ยนเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) โดยในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน จากแผนทั้งหมด 3,200 คัน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเดินรถทั้ง 77 เส้นทาง เบื้องต้นผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตจาก กรมฯแล้วต้องดำเนินการเข้าบรรจุรถในเส้นทางภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จำนวน 361 คัน 16 เส้นทาง โดยตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตทยอยเข้ารับการบรรจุในเส้นทางแล้วเสร็จครบทุกเส้นทางภายในเดือนธันวาคม 2565
หลังจากที่กรมฯมีแผน การปฏิรูปรถโดยสารในการบรรจุรถตามเส้นทางนั้น ปัจจุบันได้นำร่องการเปิดให้บริการรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ จำนวน 25 คัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นรถที่มีการปรับโฉมใหม่, สะอาดพร้อมอำนวยความสะดวกผู้พิการ รวมทั้งมีการติดตั้งกล้องทั้งหมด 3 เครื่อง ภายในรถโดยสารเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้รถบนท้องถนนเป็นไปตามกฎระเบียบ และเข้าสู่การให้บริการรถสาธารณะที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาการปรับเส้นทางเดินรถใหม่เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการเดินรถเอกชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พบว่าใน 1 เส้นทางมีผู้ประกอบการเดินรถหลายราย ทำให้เกิดการแข่งขันในการเดินรถทับซ้อนระหว่างกัน จนเกิดการร้องเรียน ส่งผลให้เส้นทางเดินรถไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยการปฏิรูปเส้นทาง 77 เส้นทาง ที่ได้ดำเนินการนั้น เป็นการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากที่มีการศึกษาแล้ว 4-5 เดือน จะต้องเปิดรับฟังผลตอบรับและความคิดเห็นจากประชาชน หากแผนการเดินรถในปัจจุบันไม่มีความเหมาะสมก็สามารถปรับแนวเส้นทางโดยการออกประกาศได้ หรือปรับปรุงการเดินรถในเส้นทางเดิมก็สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว
“ส่วนแผนการปฏิรูปเส้นทางใหม่เพิ่มเติมจาก 77 เส้นทาง ทางกรมฯเห็นว่าเส้นทางต่างๆ ในอนาคตจะมีความแตกต่างจากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางในการเดินรถได้ตลอดเวลาตามความต้องการของประชาชน หากมีการให้บริการเดินรถราว 3-4 เดือน จะเริ่มใช้ระบบ AI ในการคำนวณปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการในเส้นทางนั้นๆ และบริเวณในเส้นทางใดที่มีพื้นที่ที่มีการเกิดชุมชนใหม่ๆ รวมทั้งมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก จะต้องปล่อยความถี่ในการเดินรถเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้กรมฯได้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้กับบริษัท ไทย สมายล์บัส จำกัด แล้ว จำนวน 71 เส้นทาง โดยผู้ประกอบการเดินรถจะต้องเข้าดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถพร้อมทั้งจัดเดินรถตามเงื่อนไขภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ส่วนอีก 6 เส้นทาง ปัจจุบันกรมฯได้ตัวผู้ประกอบการเดินรถครบแล้ว ซึ่งบริษัทที่ได้รับการอนุญาตจะต้องเข้ามาบรรจุรถในเส้นทางตามแผนภายใน 31 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ผู้ประกอบการเดินรถมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาการบรรจุรถตามแผนฯได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565
ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้ประกาศให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เส้นทางหมวด 1 ตามแนว ทางการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ ใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพบริการ 90 คะแนน และเกณฑ์การเยียวยา 10 คะแนน
ทั้งนี้ 6 เส้นทางมีเอกชนผู้ประกอบการได้รับสัมปทานแล้ว ประกอบด้วย 1. สาย S3 (สาย 559 เดิม) รังสิต-สวนสยาม-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน), 2. สาย S4 (สาย 549 เดิม) มีนบุรี-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ, 3. สาย S5 (สาย 550 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ, 4. สาย S (สาย 555 เดิม) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน) 5. สาย 3-3 (สาย 11 เดิม) สวนหลวง ร.9-สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ และ 6. สาย 3-34 (ใหม่) บางนา-นิคมอุตสาห กรรมลาดกระบัง
สำหรับ 71 เส้น ทางที่บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้รับอนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เช่น สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน), สาย 1-31 (ใหม่) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-คลองหลวง, สาย 1-32E (ใหม่) บางเขน-สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู (ทางด่วน), สาย 1-33 (ใหม่) เป็นต้น