นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ,สภาพัฒน์ และ รฟม. มาชี้แจงในที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯในวันนี้ (3 ต.ค.2565) เบื้องต้นทางรฟม.ไม่ได้มีการเข้าร่วมชี้แจงในครั้งนี้ ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ จะเชิญรฟม.,สำนักงานอัยการสูงสุด,บีทีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค. 2565 เวลา 14.00 น.
“การประชุมหารือในครั้งนี้เป็นการชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการฯต่างจากการตรวจสอบในด้านของตุลาการ เบื้องต้นทางคณะอนุกรรมาธิการฯจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือร่วมกับพรรคฝ่ายค้านในภาคการเมืองด้วย”
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า กรณีที่บมจ.อิตาเลียนไทย ทำหนังสือถึงสคร. เพื่อขอเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนนและด้านราคาผลตอบแทน 70 คะแนน ว่า ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562 จะมุ่งเน้นการจัดทำทดสอบความสนใจของภาคเอกชน ก่อนจะดำเนินโครงการฯ หากการวางแผนไม่ถูกต้องจะทำให้การคัดเลือกเอกชนมีปัญหาได้ โดยสคร.มีการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนมาโดยตลอด
“ทั้งนี้ในช่วงการจัดร่างเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งสคร.มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วย แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจุดประสงค์ของเอกชนที่เสนอเรื่องเข้ามาจะได้ประโยชน์อย่างไร”
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า ก่อนที่จะประกาศร่างเอกสารเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) ตามกฎหมายกำหนดให้รฟม.ต้องสำรวจความคิดเห็น 2 ครั้ง ประกอบด้วย Market Souding และ Opinion Sounding ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมูลดังกล่าว โดยให้เอกชน 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนแล้ว โดยทั้ง 2 ราย เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนนและด้านราคาผลตอบแทน 70 คะแนน ควบคู่กัน
“หลักเกณฑ์ใหม่ที่ทั้ง 2 รายเสนอนั้น ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 แล้ว ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมติให้ใช้หลักเกณฑ์การประมูลด้านราคาและผลตอบแทนตามเดิม แต่เมื่อผ่านไป 9 วัน หลังจากมีหนังสือของ ITD กลับมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งไม่มีเหตุผล นอกจากโดนคำสั่ง”
นายวิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กล่าวว่า การยื่นหนังสือของ ITD สามารถเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มได้เลยหรือ โดยผู้รับเหมาในการเข้าร่วมประมูลยื่นหนังสือเพียงครั้งเดียวสามารถ ทำให้รฟม.เปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ ซึ่งการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส
“เมื่อมีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ ยังไม่มีความโปร่งใส ซึ่งเห็นได้จากการเปิดข้อเสนอด้านราคาถือว่าสูงมาก แต่กลับชนะการประมูล ขณะที่บีทีเอสเปิดเผยตัวเลขการยื่นข้อเสนอด้านราคาและผลตอบแทนการประมูลโครงการฯ ครั้งแรก ยังไม่ถึง 10,000 ล้านบาท ทำให้เม็ดเงินมีความแตกต่าง ราว 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณของแผ่นดินถึง 6 เท่า ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือไม่”
ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากรฟม.ไม่ได้มีการตัดสินใจขอคำปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แต่เสนอร่างเอกสารการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเสร็จ จะดำเนินการอย่างไรนั้น ซึ่งตามกฎหมายรฟม.จะต้องเสนอความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของสัญญาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยจะมีรายละเอียดผลการคัดเลือกเอกชน ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคิดเห็นตามสมควร