รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ไฮสปีดไทย – จีน) ทั้ง 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 3 สัญญาทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 2569 เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนต้นปี 2570
สำหรับ 3 สัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญานั้น อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่เอกชนยื่นฟ้องผลการพิจารณาคุณสมบัติการประมูล
ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กิโลเมตร อยู่ในขั้นตอนการเจรจาแก้ไขร่างสัญญาระหว่างทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกลุ่มซีพี เพื่อดำเนินการลงทุนพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในโครงการไฮสปีดไทย - จีน และไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน
ขณะที่สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร ขณะนี้ รฟท.ได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อให้ความเห็นของเจรจาข้อเสนอจากเอกชนที่ประมูลและยื่นข้อเสนอเป็นรายที่ 2 เนื่องจากเอกชนรายที่ 1 ไม่ยืนราคาตามที่เสนอไว้
รายงานข่าวจากรฟท.กล่าวต่อว่า รฟท.มีแผนที่จะพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ปัจจุบันรฟท.ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคาและก่อสร้างภายในปี 2566 เปิดให้บริการปี 2571
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย วงเงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท มีระยะทาง 356 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ หลังสถานีนครราชสีมจุดสิ้นสุดที่ ริมแม่น้ำโขง ฝั่งไทย ระยะทางทั้งสิ้น 356 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย 1. สถานีบัวใหญ่ 2. สถานีบ้านไผ่ 3. สถานีขอนแก่น 4. สถานีอุดรธานี 5. สถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย,ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา,ย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา
นอกจากนี้รฟท.ได้เตรียมความพร้อมในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยเป็นการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามแดนช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ในระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นการพัฒนาสถานีหนองคาย พื้นที่ 80ไร่รูปแบบการดำเนินการ (พื้นที่ส่วนกลาง) เบื้องต้นรฟท. จะสร้างถนนหินคลุกในพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – ลาว – จีน ปัจจุบัน รฟท. ได้ปรับปรุงพื้นที่ย่านยกขนสินค้าเสร็จเรียบร้อยแล้วและดำเนินการตรวจวัดพื้นที่ร่วมกันระหว่าง รฟท.และกรมศุลกากร ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างจัดหางบประมาณในการก่อสร้างรั้วเพื่อจัดทำพื้นที่อารักขาตามระเบียบของกรมศุลกากร และ รฟท. จะจัดสรรพื้นที่ส่วนที่เหลือใหม่เพื่อออกประกาศให้เช่าต่อไป
ทั้งนี้รูปแบบการเดินรถไฟจะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้า จำนวน 14 เที่ยว (ไป-กลับ) และขนส่งสินค้าขบวนละ 25แคร่ สามารถรองรับในการขนส่งสินค้าเพิ่มขี้นจากแบบเดิมถึง 8เท่า ส่วนการแบ่งพื้นที่บริเวณสถานีหนองคายให้เอกชนเช่าเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและติดตั้งเครื่อง X-ray โดยกรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร ซึ่งรฟท.อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อย เป็น 5 แปลง แบ่งเป็น พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 42,016 ตารางเมตร จำนวน 1 แปลง โดยจะกำหนดราคาค่าเช่าตามระเบียบการรถไฟ