หลังจากภาครัฐพยายามเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน หรือไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมากทั้ง 14 สัญญา โดยตั้งเป้าที่จะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะที่ 2 โดยให้ รฟท.เร่งรัดโครงการฯดังกล่าว ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมได้ฤกษ์ที่จะสานโครงการไฮสปีดไทย-จีน เฟส2 ต่อเนื่อง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร(กม.) วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ตีกลับรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีข้อมูลบางประเด็นที่ต้องปรับแก้ไขเล็กน้อย โดยให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้ส่งข้อมูลกลับไปอีกครั้งเพื่อให้คชก.พิจารณาเห็นชอบแล้ว
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. )จะรอดูแนวโน้มการพิจารณาอีไอเอก่อนว่าจะเป็นอย่างไร หากมีแนวโน้มราบรื่นดี คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือนตุลาคม 2565 ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้ในปลายปี 2565 ต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ รฟท. กล่าวว่า หากในช่วงปลายปี 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการฯ ทาง รฟท. จะใช้เวลาหลังจากนั้นในการดำเนินการขั้นตอนการประกวดราคา(ประมูล) ประมาณ 7 เดือน และคาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนสิงหาคม -กันยายน 2566 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งงานระบบอาณัติ สัญญาณ รวมประมาณ 4 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2571
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะแบ่งการประมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างเป็นไม่เกิน 10 สัญญา หากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีภูเขา รวมทั้งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด เป็นพื้นที่เวนคืนน้อยมาก
"ส่วนสาเหตุที่มีการแบ่งสัญญาไม่เกิน 10 สัญญานั้น เนื่องจาก หากมีการแบ่งสัญญาย่อยหลายสัญญาเหมือนกับโครงการไฮสปีดไทย-จีนเฟส1 คงไม่ไหว เพราะสัญญาค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้รับเหมาที่จะคุมงานก่อสร้างไม่เพียงพอ แต่ที่ผ่านมามีการประมูลแต่ละโครงการ ฯ มีการแบ่งออกหลายสัญญา ทำให้ผู้รับจ้างรายเล็กไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานได้ เพราะเป็นสัญญางานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ในโครงการฯ เฟส2 ทางรฟท.มีความเห็นว่าควรขยายสัญญาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูลมากขึ้นสำหรับงานก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างรายเล็ก ซึ่งจะทำให้ผู้รับจ้างมีรายเล็กมีผลงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีบางสัญญาที่อยู่ภายในเมืองสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค,ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้า รวมทั้งผู้บุกรุกที่อาศัยภายในชุมชนใหญ่บริเวณจังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้การรื้อย้ายต้องใช้ระยะเวลา"
นายกำพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แนวเส้นทางตลอดระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นั้น แบ่งการก่อสร้างเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร (กม.) และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร (กม.) มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย ส่วนการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ทำให้มีความรวดเร็วในการเดินทาง และความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งเกิดการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนั้นเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทย กับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่