“สภาพัฒน์” ตีกลับ สั่งทบทวนศึกษา “ทางด่วนขั้น3” 1.7 หมื่นล้าน

05 ต.ค. 2565 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 19:19 น.

“กทพ.” ทบทวนผลศึกษาประมูล “ทางด่วนขั้น3 สายเหนือ” นำร่อง N2 จากแยกเกษตร – นวมินทร์ 1.7 หมื่นล้านบาท หลังสภาพัฒน์ตีกลับทบทวนความเห็นเพิ่ม ลุ้นครม.ไฟเขียวต้นปีหน้า เล็งประมูล-ก่อสร้าง ปลายปี 66 เร่งศึกษาสร้างอุโมงค์ทางด่วน รับช่วง N1 บริเวณม.เกษตร คาดได้ข้อสรุปปี 66

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัดฝุ่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ หลังจากที่ปล่อยให้ตอม่อถูกทิ้งร้างหลาย 10 ปี โดยโครงการฯจะช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนประเสริฐมนูกิจ และถนนประดิษฐ์มนูธรรมบริเวณทางแยกต่างระดับฉลองรัช ลดการคับคั่งของจราจรบริเวณแยกสัญญาณไฟจราจรบนถนนประเสริฐมนูกิจ และเพิ่มการกระจายปริมาณการจราจรไปทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ได้ 

 

 

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาข้อมูลประกอบการอนุมัติโครงการลงทุนช่วง N2 จากแยกเกษตร – นวมินทร์ เชื่อมไปยังวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 1.7 หมื่นล้านบาท แล้ว โดยให้ความเห็นว่า อยากให้กทพ.เร่งศึกษาช่วง N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษโดยรอบอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างบริเวณใดบริเวณหนึ่งก่อนก็สามารถเสนอขออนุมัติโครงการช่วงนั้นได้ ซึ่งจะต้องนำไปพิจารณาเพิ่มเติมราว 2-3 เรื่อง เช่น มาตรการบรรเทาปัญหาการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ฯลฯ

 

 

 

ขณะเดียวกันกทพ.ยังอยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขผลตอบแทนต่างๆของโครงการฯเพื่อให้ครอบคลุมการก่อสร้างช่วง N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องดำเนินการทบทวนผลการศึกษาให้เป็นปัจจุบัน หลังจากนั้นจะเสนอขออนุมัติต่อไป คาดว่าจะเสนอโครงการช่วง N2 บริเวณแยกเกษตร – นวมินทร์ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากครม.ภายในต้นปี 2566  
 

หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว จะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลและได้ตัวผู้รับจ้างลงนามสัญญาภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ทันทีภายในปลายปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เนื่องจากโครงการฯไม่มีแนวพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดิน คาดเปิดให้บริการภายในปี 2569 โดยการประมูลโครงการฯนี้เป็นการประมูลงานก่อสร้างในรูปแบบปกติ เป็นการใช้งบประมาณบางส่วนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) วงเงิน 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่เหลือจากการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายพระราม3 ส่วนงบประมาณที่ยังขาด ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อเลือกรูปแบบการรระดมทุนที่เหมาะสม เช่น การออกพันธบัตร,การเปิดกองทุนใหม่ TFFIF หรือใช้เงินกู้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินการคลังด้วย

 

 

 “การประมูลโครงการฯช่วง N2 บริเวณแยกเกษตร – นวมินทร์ ในครั้งนี้ไม่ได้ประมูลฐานรากร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะก่อสร้างฐานรากใหม่ โดยใช้พื้นที่ในเขตทางเดียวกัน ขณะที่ฐานรากเดิมช่วง N2 ของกทพ.ที่ก่อสร้างไว้แล้ว 25 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกออกแบบให้รับน้ำหนักทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนได้พร้อมกัน หากใช้ฐานรากร่วมกันจะส่งผลให้โครงสร้างพังถล่มได้ โดยกทพ.และรฟม.ได้มีการหารือในการใช้เขตทางร่วมกันในการดำเนินการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างระหว่างกัน”

 

 

ขณะที่ความคืบหน้าช่วง N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบื้องต้นกทพ.อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่กับการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน พร้อมศึกษารูปแบบการก่อสร้างในรูปแบบอุโมงค์ทางด่วน ส่งผลให้ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ประมาณ 4-5 ปี มากกว่าการก่อสร้างในรูปแบบทางยกระดับ โดยการก่อสร้างจะมีการใช้หัวเจาะอุโมงค์รูปแบบเดียวกันกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน คาดว่าศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะขออนุมัติก่อสร้างและเปิดประมูลช่วง N1 ภายในปี 2567 เริ่มการก่อสร้างภายในปี 2568 คาดเปิดให้บริการปี 2571-2572

“ปัจจุบันทางกทพ.ยังไม่ได้หารือถึงการศึกษาก่อสร้างในรูปแบบอุโมงค์ทางด่วนกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะรูปแบบการก่อสร้างไม่ได้กระทบกับทางมหาวิทยาลัยฯแล้ว แต่ทั้งนี้กทพ.ต้องหารือร่วมกัน เพราะเป็นการขอใช้พื้นที่เขตทางของมหาวิทยาลัย ในระยะทาง 500 เมตร ซึ่งเขาอาจจะได้รับผลกระทบในด้านการก่อสร้าง”

 

“สภาพัฒน์” ตีกลับ สั่งทบทวนศึกษา “ทางด่วนขั้น3”  1.7 หมื่นล้าน

 

อย่างไรก็ตามหากโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเชื่อมต่อระดับเมืองในแนวตะวันออก-ตะวันตก อีกทั้งยังตัดผ่านทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์และถนนวงแหวนรอบนอก  ซึ่งเป็นเส้นทางในแนวเหนือใต้ ที่เกิดเป็นการเชื่อมต่อเหนือ ใต้และตะวันออก ตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มทางเลือกใหม่แก่ประชาชนในการสัญจร