เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เป็นห่วงเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สั่งการกรมปศุสัตว์ให้ตั้ง War room ทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัดเพื่อพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม ก่อนหน้านี้ได้ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว ล่าสุดกำชับให้กรมปศุสัตว์จัดหน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง โดยทันทีที่เกิดภัย เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
ขณะนี้กรมปศุสัตว์ระดมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเพิ่มเติม กระจายลงพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพสัตว์ให้ทั่วถึง ซึ่งได้นำอาหารสัตว์ไปให้เกษตรกร อพยพสัตว์ รักษาและดูแสสุขภาพ ตลอดจนแจกถุงยังชีพสำหรับสัตว์ โดยภายในถุงยังชีพประกอบด้วย แร่ธาตุก้อน 2 กิโลกรัม อาหารสำหรับไก่พื้นเมือง 2 กิโลกรัม อาหารสำหรับสุนัข/แมว 1 กิโลกรัม ยาปฏิชีวนะแบบละลายน้ำ 2 ซอง และวิตามินแบบละลายน้ำ 2 ซอง
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ. ปศ.) กรมปศุสัตว์ กรณีสถานการณ์น้ำท่วม น้ำไหลหลาก และท่วมขังว่า เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 13 จังหวัด จำนวน 91 อำเภอ 323 ตำบล 1,515 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 43,819 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 1,542,015 ตัว แบ่งเป็น โค 126,674 ตัว กระบือ 27,844 ตัว สุกร 26,837 ตัว แพะ- แกะ 5,735 ตัว และสัตว์ปีก 1,354,925 ตัว
ปัจจุบัน (10 ต.ค. 65) ได้ให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้แก่ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 421,140 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 115,414 ตัว สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 10,690 ตัว รักษาดูแลสุขภาพสัตว์ 1,025 ตัว และแจกถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 1,052 ถุง
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมทุกด้านตลอดเวลา โดยประสานหน่วยงานของกรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำรวจความเสียหายของเกษตรกร เพื่อขอรับการชดเชย ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ที่ต้องการรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 0 2653 4444 ต่อ 3315 หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที