นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “สถานีดีพร้อม” ประจำปี 2565 ว่า ปัจจุบันระบบขนส่งทางรางยังมีต้นทุนสูงหากเทียบกับระบบขนส่งทางบก ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายให้ทุกระบบขนส่งพัฒนาพลังงานทางเลือก หรือพลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงไปได้จำนวนมาก และประโยชน์จากการลดต้นทุนพลังงานยังจะทำให้ต้นทุนค่าโดยสารของประชาชนถูกลง
ส่วนระบบขนส่งทางราง ในปัจจุบันมีบางส่วนใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ก็พบว่าเป็นพลังงานที่ต้องมีการติดตั้งระบบที่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นตนจึงฝากให้ทุกภาคส่วนเริ่มดำเนินการศึกษาพลังงานทางเลือก ใช้ไฟฟ้าจากระบบอื่น เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยหากสามารถดำเนินการได้จริง เชื่อว่าอนาคตค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทมีความเป็นไปได้
“ตอนนี้รถไฟฟ้ามีต้นทุนสูงจากการติดตั้งระบบ มีค่าก่อสร้างต่างๆ แต่หากรถไฟฟ้าที่ครบสัมปทาน 30 ปีไปแล้ว ค่าติดตั้งระบบและค่าก่อสร้างก็จะถูกหักลบออกไป จะทำให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทได้ เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทาน เชื่อว่าหากคำนวณต้นทุนดีๆ ตัวเลข 20 บาทก็เป็นไปได้ แต่จะทำได้เมื่อไหร่นั้นต้องรอให้ร่าง พรบ.กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ก่อน เพราะกรมการขนส่งทางรางมีสถานะเป็นผู้กำกับระบบขนส่งทางรางทั้งหมด สามารถกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าโดยสารได้ด้วย”
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทราบว่ามีทางเอกชนกำลังพัฒนารถไฟระบบ EV Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทดลองวิ่งในรางรถไฟจริงในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผลการศึกษาฝีมือคนไทยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งทางราง ลดต้นทุนพลังงานในอนาคต โดยสิ่งเหล่านี้กระทรวงฯ จะนำมาพิจารณาอยู่ในแผนจัดหาหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
"ถือเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้เอง โดยปัจจุบันหลายประเทศก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และกำลังดำเนินการกันอยู่ สำหรับ EV on Train ตัวต้นแบบของไทยนั้น เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อย จะต้องมาพิจารณาผลว่าเป็นอย่างไร หากได้ผลดี อาจต้องทบทวนแผนการจัดซื้อหัวรถจักร และรถโดยสารของ รฟท. ให้เป็นแบบ EV ต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้งบประมาณของรัฐค่อนข้างมีข้อจำกัด หากให้เอกชนลงทุนได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติ แต่ทั้งนี้การทำรถไฟ EV ขึ้นเองนั้น ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องได้มาตรฐานระดับสากลด้วย เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด"
สำหรับรถโดยสารไฟฟ้านั้น ขณะนี้เอกชนเริ่มนำรถโดยสารไฟฟ้ามาให้บริการประชาชนแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะต้องเปลี่ยนรถเมล์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นรถเมล์พลังงานสะอาด หรือรถเมล์พลังงานไฟฟ้า (EV) ประมาณ 5-8 พันคัน
ขณะที่โครงการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน ขององค์การขนส่งมวลชน(ขสมก.) ที่ยังติดขัดเรื่องการตีความของสำนักงบประมาณในการใช้งบประมาณลงทุนนั้น เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนจะทันนำมาให้บริการประชาชนได้ภายในปีนี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่จะทันในปี 66 หรือไม่ อาจต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระในเดือน มี.ค.66
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ขร. ได้จัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” นำร่องประเมินคุณภาพสถานีขนส่งทางรางทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสถานีให้มีความพร้อมในการให้บริการที่ดี และมีความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อโดยจากผลการจัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” มีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี
สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ได้ใช้เกณฑ์การประเมิน 8 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า - ออก ในการรองรับการใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร
2. ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
3. ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี
การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง
4. ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน
5. ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ
6. ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
7. ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่
8. ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี