นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ร่วมกับหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่าย จัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ในวันที่ 25-27 พ.ย.65 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้หัวข้อ “Connect the dots : Enhancing Thailand Competitiveness” โดยวาระเร่งด่วนที่หอการค้าฯ ตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐและเอกชน คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว ด้วยการนำเอา Digital Transformation มาใช้ รวมถึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นทางออกในการฟื้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤติซ้อนวิกฤติ จากนี้ไปจนถึงปี 2566
ทั้งนี้ หากไทยสามารถยกระดับ Competitiveness ได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะภาคอสังหาทรัพย์ของไทย จะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุน ตลอดจนกลุ่ม Talent ต่าง ๆ จากทั่วโลก มาทำงานและพักอาศัยระยะยาวในไทย ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกมหาศาล เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ในปีหน้า
และ จะยิ่งช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่ EEC และเชื่อมั่นว่าจากโมเดลความสำเร็จนี้ จะขยายไปยังระเบียงเศรษฐกิจแห่งใหม่ ๆ ในทุกภาคให้เกิดขึ้นจริง ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ภาคอีสาน (NeEC) ภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และภาคใต้ (SEC)
นอกจากนั้น ในปี 2566 ถือเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่ง ซึ่งหอการค้าไทยจะครบรอบ 90 ปี และมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับ Competitiveness ของไทย โดยหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และเครือข่ายทั่วประเทศ จะร่วมกันส่งเสริมความเข้มแข็งของ SME ไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2568)
สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ส่วนภาคกลางตอนล่างสถานการณ์น้ำยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย ได้ยกระดับการประเมินตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วม จาก 5,000-10,000 ล้านบาท เป็น 22,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคเกษตร 10,000 ล้านบาท และนอกจากภาคเกษตร 12,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะกระทบหนักในบางจังหวัดและบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งอาจจะกระทบในระยะสั้น โดยเฉพาะในด้านการขนส่งที่ยากลำบากขึ้น แต่จะไม่กระทบในระยะยาว จึงประเมินว่าจะกระทบต่อจีดีพีประเทศ ประมาณ 0.21%”
ด้าน นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะจังหวัดเจ้าภาพร่วมจัดสัมมนา กล่าวว่า สำหรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จังหวัดได้ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรภาคเอกชนทุกแห่ง ยืนยันว่าจังหวัดมีความพร้อมในการจัดงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความปลอดภัย และจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานจากทั่วประเทศที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือน จ.อุบลราชธานีในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัด หลังจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลายลง
ขณะที่นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเสริมว่า ในฐานะตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัด ว่าภายหลังสถานการณ์โควิด 19 และน้ำท่วมคลี่คลายลงเตรียมนำเสนอต่อหอการค้าไทยในปลายนี้ ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ แนวทางการสร้างประโยชน์จากการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว การขยายผลโมเดลการเลี้ยงโคไทยให้กลายเป็นโคเนื้อระดับพรีเมียม การส่งเสริมโครงการ “1 หอ 1 Happy Model” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม BCG โครงการท่องเที่ยวเลียบริมโขง 7 จังหวัด ตั้งแต่เลยถึงอุบลราชธานี เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 6 (นาตาล-ละคอนเพ็ง) และข้อเสนอจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำภาคอีสาน เป็นต้น
ด้าน นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะที่หอกาค้าจังหวัดเจ้าภาพร่วมจัดสัมมนา ยืนยันการเตรียมความพร้อม และมองโอกาสของการจัดงานนี้ เป็นการเปิดประตูต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ จากทั่วประเทศ ให้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่มีความเจริญก้าวหน้า มีความร่วมสมัย แต่ยังคงมีกลิ่นอายของชาว จ.อุบลราชธานี ให้ได้สัมผัสกันอย่างอบอุ่น
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีและผู้นำภาคเอกชนหลายท่านมาร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อสำคัญ ๆ อาทิ Enhancing Economic Performance for Thailand Competitiveness : ฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย ยุค 5.0 โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), Enhancing Business Efficiency : โลกเปลี่ยน เราปรับ โดย นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ Accenture ประเทศไทย, Enhancing Trade Facilitation for Thailand Competitiveness : เปิดการค้าไทย มิติใหม่สู่สากล โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นต้น
โดยภายหลังจากการระดมสมองของนักธุรกิจทั่วประเทศ หอการค้าไทยจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย รวบรวมเป็นสมุดปกขาวเสนอให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป