นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ได้ประชุมหารือเบื้องต้นล่าสุดกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร(กม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกในไทย
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้รับสัมปทานทั้ง 2 สายอยู่ระหว่างเร่งดำเนินงานการก่อสร้าง เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เบื้องต้นในเดือน ธ.ค.65 มีแผนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูอย่างไม่เป็นทางการ ในลักษณะเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่ช่วงแรกจะเปิดให้ทดลองใช้บริการเป็นกรุ๊ปก่อน ซึ่งสถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือกลุ่มประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อขอทดลองใช้บริการได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ ก่อนเปิดบริการเดินรถบางส่วน(Partial) แบบเก็บค่าโดยสารประมาณเดือน ก.พ.66
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากการหารือได้ข้อสรุปว่า จะเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงสถานีสำโรง-ภาวนาก่อน ส่วนสถานีลาดพร้าวนั้น ขอพิจารณาอีกครั้งว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ทันตลอดทั้งเส้นหรือไม่ ซึ่งทางผู้รับจ้างเร่งรัดดำเนินการอยู่ โดยช่วงแรกที่จะเปิดให้บริการ จำนวน 22 สถานี ประกอบด้วย สถานีภาวนา,โชคชัย 4,ลาดพร้าว 71,ลาดพร้าว 83,มหาดไทย,ลาดพร้าว 101,บางกะปิ,แยกลำสาลี,ศรีกรีฑา,หัวหมาก,กลันตัน,ศรีนุช,ศรีนครินทร์ 38,สวนหลวง ร.9,ศรีอุดม,ศรีเอี่ยม,ศรีลาซาล,ศรีแบริ่ง,ศรีด่าน,ศรีเทพา,ทิพวัล และสถานีสำโรง
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตั้งแต่สถานีมีนบุรี ถึงสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ยกเว้นสถานีนพรัตน์ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติก่อน จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตลอดสายครบทุกสถานีประมาณเดือน ก.ค.66 โดยช่วงแรกที่จะเปิดให้บริการ จำนวน 17 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ,หลักสี่,ราชภัฏพระนคร,วัดพระศรีมหาธาตุ,รามอินทรา 3 ,ลาดปลาเค้า,รามอินทรา 31,มัยลาภ,วัชรพล,รามอินทรา 40 ,คู้บอน,รามอินทรา 83 ,วงแหวนตะวันออก,บางชัน,เศรษฐบุตรบำเพ็ญ,ตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูนั้น ขณะนี้ยังไม่นิ่ง โดยจากข้อมูลปี 59 จะจัดเก็บในอัตรา 14-42 บาท แต่เมื่อเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารต้องพิจารณาจากดัชนีผู้บริโภค(CPI) อีกครั้ง โดยจะคำนวณตามสูตรในสัญญาสัมปทานก่อนเปิดให้บริการประมาณ 30 วัน ซึ่งจากการคำนวณคร่าวๆ ในเดือน ก.ย.65 อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาทตามระยะทาง ส่วนจะมีบัตรโดยสารพิเศษ เช่น บัตรรายเดือน บัตรนักเรียน หรือบัตรผู้สูงอายุ รวมถึงโปรโมชั่นพิเศษใดๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้ประชาชนหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างพิจารณา
“ส่วนของตั๋วร่วมตามนโยบายกระทรวงคมนาคมนั้น ทาง รฟม. ได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานพัฒนาหัวอ่านที่รองรับบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ได้ด้วย ขณะที่ผู้รับสัมปทานจะเปิดให้ผู้โดยสารสามารถนำบัตรแรบบิท ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นตั๋วร่วมโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว, รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถโดยสาร BRT มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูได้ด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู อยู่ระหว่างการทดสอบเดินรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบต่างๆ ดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์ และเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ ปัจจุบันขบวนรถโมโนเรลที่จะนำมาให้บริการในสายสีเหลืองนั้น บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ได้ทยอยส่งขบวนรถยี่ห้อBombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีน มาถึงประเทศไทยครบแล้ว 30 ขบวน 120 ตู้ ส่วนขบวนรถสายสีชมพู อยู่ระหว่างทยอยจัดส่ง คาดว่าจะได้รับครบทั้ง 42 ขบวน 168 ตู้ ภายในปี 65