นางอภิญญา เอี่ยมอำภา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐม กล่าวในการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 รวมระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 ว่า สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบลักษณะถนนโครงการ เป็นรูปแบบทางหลวงแนวใหม่ที่เชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างในเมืองกับนอกเมือง ที่เน้นรวมการจราจรและกระจายการจราจร และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี
“ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2566 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป”
สำหรับโครงการฯยังเป็นถนนที่สามารถเข้า-ออกพื้นที่ได้อย่างสะดวก ซึ่งผลการวิเคราะห์ด้านจราจรและขนส่ง เป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการตั้งบริเวณปลายถนนพุทธมณฑลสาย 4 (ทางหลวงหมายเลข 3310) ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบทหมายเลข นฐ.4006 (แยกหอนาฬิกาศาลายา) จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งทิศเหนือผ่านทางรถไฟสายใต้ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองนราภิรมย์ จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดกับทางหลวงชนบท นบ.1011 โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา ทางหลวงชนบท นบ.5014 คลองบางใหญ่ ทางหลวงชนบท นบ.1009 และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี
ทั้งนี้ได้พิจารณากำหนดทางเลือกแนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสมทั้งสิ้น 3 ทางเลือก ที่มีจุดเริ่มต้นบนถนนพุทธมณฑลสาย 4 บริเวณทางแยกหอนาฬิกา และจุดสิ้นสุดบรรจบกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 ตำแหน่งเดียวกัน โดยมีความแตกต่างของแต่ละแนวทางเลือก ดังนี้ แนวเส้นทางโครงการ ทางเลือกที่ 1 ใช้พื้นที่เขตทางที่มีการหักแบ่งเป็นทางสาธารณะมากที่สุด เพื่อให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยในการขับขี่มากที่สุด แนวเส้นทางจึงขนานใกล้กับคลองไผ่ขาดที่เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยมากที่สุด
ขณะที่แนวเส้นทางโครงการ ทางเลือกที่ 2 ใช้พื้นที่เขตทางที่มีการหักแบ่งเป็นทางสาธารณะค่อนข้างมาก และเพื่อให้แนวเส้นทางห่างจากตำแหน่งด่านชั่งน้ำหนักของโครงการถนนนครอินทร์-ศาลายา และลดผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยใกล้กับคลองไผ่ขาด จึงมีการขยับแนวเส้นทางถัดออกมาด้านทิศตะวันตก ทั้งนี้แนวเส้นทางยังมีความปลอดภัยในการขับขี่มากที่สุดเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1
ส่วนแนวเส้นทางโครงการ ทางเลือกที่ 3 ใช้พื้นที่เขตทางที่มีการหักแบ่งเป็นทางสาธารณะค่อนข้างมาก และเพื่อให้แนวเส้นทางห่างจากตำแหน่งด่านชั่งน้ำหนักของโครงการถนนนครอินทร์-ศาลายา และลดผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทางให้มากที่สุด จึงมีการขยับแนวเส้นทางจากทางเลือกที่ 2 ถัดออกมาด้านทิศตะวันตก ทำให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยในการขับขี่ด้อยกว่าทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ซึ่งจากการศึกษาการคัดเลือกแนวเส้นทางพบว่า แนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ แนวทางเลือกที่ 2
นอกจากนี้แนวเส้นทางโครงการฯ ตัดผ่านโครงการทางหลวงที่สำคัญและมีปริมาณจราจรมาก ดังนั้นการเชื่อมต่อแบบทางแยกต่างระดับ (Interchange) จะช่วยให้การจราจรคล่องตัว สะดวกและปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง ทั้งนี้ได้พิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยมีตำแหน่งที่จะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ 2 จุด ดังนี้ 1. จุดเชื่อมกับโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา โดยการออกแบบจะให้ความสำคัญกับทิศทางเลี้ยวขวาที่มีปริมาณจราจรสูง
จากผลการคาดการณ์ความต้องการเดินทางในปีอนาคต พบว่าทิศการเดินทางเลี้ยวขวาจากอำเภอพุทธมณฑล มุ่งไปอำเภอเมืองนนทบุรี มีปริมาณจราจรมากที่สุด (977 pcu/ชม.) รองลงมาคือ ทิศการเดินทางจากอำเภอเมืองนนทบุรี มุ่งไปทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (763 pcu/ชม.) โดยทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบทางแยกต่างระดับสะพานยกระดับเลี้ยวขวากึ่งตรง (Semi-directional) จำนวน 2 สะพาน คือ ทิศการเดินทางจากอำเภอพุทธมณฑล มุ่งไปอำเภอเมืองนนทบุรี และทิศการเดินทางจากอำเภอเมืองนนทบุรีมุ่งไปทางหลวงพิเศษหมายเลข 81
สำหรับทิศทางเลี้ยวขวาที่มีปริมาณจราจรน้อย เป็นรูปแบบสะพานวนเลี้ยวขวา (Loop ramp) มี 2 ทิศการเดินทางคือ ทิศการเดินทางจากอำเภอนครชัยศรีไปอำเภอพุทธมณฑล และทิศการเดินทางจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 มุ่งไปอำเภอนครชัยศรี ซึ่งข้อเด่นของทางเลือกนี้ คือ มีการสัญจรโดยใช้ความเร็วได้สูงในทิศการเดินทางที่มีปริมาณจราจรมาก
2. รูปแบบทางแยกต่างระดับจุดเชื่อมกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 โดยทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบถนนขนานยกระดับต่อเชื่อม (Offset Interchange หรือ Separate Link) ที่มีทางแยกควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรบนถนนโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ ก่อนที่จะเข้าเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 จากนั้นจะเป็นรูปแบบทางแยกต่างระดับรูปแตรฝรั่ง (Trumpet) มีรูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบกึ่งตรง (Semi-directional) ในทิศการเดินทางจากโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ มุ่งไปอำเภอบางใหญ่ เป็นรูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบทางเลี้ยววน (Loop) ในทิศการเดินทางจากจังหวัดกาญจนบุรีมุ่งสู่โครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ
นอกจากนี้รูปแบบสะพานยกระดับเลี้ยวซ้ายสองทิศการเดินทาง คือ 1. ในทิศการเดินทางจากโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ มุ่งไปจังหวัดกาญจนบุรี และ 2. ในทิศการเดินทางจากอำเภอบางใหญ่เข้าสู่โครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ ซึ่งข้อเด่นของรูปแบบนี้ คือ ง่ายต่อการต่อขยายแนวเส้นทางในอนาคต และการจัดการจราจรบริเวณหน้าด่านจัดเก็บค่าผ่านทางได้ดีที่สุด และสามารถต่อเชื่อมทางบริการในปัจจุบันที่อยู่ข้างทางหลวงพิเศษเพื่อเข้าออกพื้นที่ได้อย่างสะดวก