นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้ทางวิปของฝ่ายบริหารและสภา กทม. กำลังพูดคุยกันอยู่เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อาจจะต้องขยายเวลาการประชุมหรืออื่น ๆ
“ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องจำเป็น ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะมีขั้นตอนรอดำเนินการอีกมากหลังจากนี้ คาดว่าวิปฝ่ายผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะรีบเสนอในที่ประชุมวิป เพื่อเสนอบรรจุวาระเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุมสภา กทม.อีกครั้ง วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นี้”
สำหรับการประชุมสภา กทม.สมัยที่ 4 มีกำหนดเดดไลน์วันสุดท้าย 26 ตุลาคม 2565 ถัดจากนี้ก็ต้องรอประชุมสภา กทม.ในเดือนมกราคม 2566
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีนัดประชุมวิประหว่างสภา กทม.กับทีมชัชชาติ แต่เกิดเหตุติดขัดประการใดไม่ทราบได้ ทำให้แม้แต่การประชุมวิปก็ไม่เกิดขึ้น
“เนื่องจากสภา กทม.ส่วนหนึ่ง และผู้บริหาร กทม.ถือว่ายังใหม่อยู่มากสำหรับงานบริหารราชการแผ่นดิน จึงควรมีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ที่สำคัญ ผู้บริหาร กทม.ชุดนี้ไม่มีสมาชิกสภา กทม.เป็นของตนเอง เพราะผู้ว่าฯชัชชาติเป็นผู้สมัครอิสระ ยิ่งต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเร่งบรรจุวาระสภา กทม.เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีประเด็นร้อนเรื่องอัตราค่าโดยสาร เพราะการเดินรถ 3 ช่วง (หมอชิต-อ่อนนุช กับต่อขยายอีก 2 ช่วง) ยังมีความเห็นและความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่หลายเรื่อง ต้องมีการพูดคุยอย่างเร็วที่สุด เพื่อหาข้อยุติเพื่อเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในบางช่วงที่เปิดให้ขึ้นรถฟรี ทำให้รายรับ กทม.เป็น 0 บาท
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีการพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น สภา กทม. (ชุดปัจจุบัน) มีความเห็นว่าให้ยึดตามมติของสภา กทม.ชุดที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้ฝ่ายบริหาร กทม.มีอำนาจในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารได้
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ความสำคัญต้องเสนอบรรจุวาระประชุมสภา กทม.มี 2 เรื่องหลักคือ 1.การตอบกลับหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย 2.การหารือสภา กทม.เรื่องการเก็บค่าโดยสาร
ส่วนการตอบกลับมหาดไทยนั้น ทางสภา กทม.เพิ่งส่งหนังสือ “ขอเอกสารเพิ่มเติม” ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2565 มายังสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ซึ่งกระชั้นชิดเดดไลน์ประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 26 ตุลาคม
ทั้งนี้การจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ถึงแม้ทางสภา กทม.มีความเห็นว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ จึงไม่ต้องนำเข้าสภา กทม.เพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณาอีก แต่ฝ่ายบริหาร กทม.เห็นว่า แม้จะมีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วก็ตาม แต่ยังมีส่วนต่างระหว่างรายได้ค่าโดยสารกับค่าจ้างเดินรถ ซึ่งจะต้องบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภา กทม.พิจารณา
ขณะเดียวกันฝ่ายบริหาร กทม.เห็นว่าสภา กทม.สมควรรับทราบเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าโดยสาร ในเรื่องอัตราค่าโดยสารและประมาณการรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเข้าสู่สภา กทม.ในภายหลัง
แหล่งข่าวจากสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีที่วิปสภา กทม.ได้พูดคุยกับวิปทีมชัชชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลว่า หากไม่สามารถลุ้นวาระประชุมสายสีเขียวในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ได้เท่ากับเสียเวลาอีก 2 เดือนเพื่อรอเข้าที่ประชุมมกราคม 2566 จะมีผลกระทบ 2 ประเด็นหลัก
1.ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) กับ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ไม่สามารถเก็บได้อีก 2 เดือนจนกว่าจะเข้าสภา กทม. ผู้รับภาระคือภาษีของชาว กทม. ที่ต้องไปอุดหนุนค่าจ้างเดินรถ
2.ผลทางตรงคือ ยังไม่สามารถตอบกลับหนังสือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสอบถามมายังผู้บริหารและสภา กทม.ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องการรับโอนภาระค่าก่อสร้างช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต