นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ว่า การจัดเก็บค่าโดยสารนั้น หากดูตามบริบท ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเก็บค่าโดยสารอย่างไร ก็ไม่สามารถชดเชยค่าจ้างเดินรถของกรุงเทพมหานคร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ได้ จากการศึกษาหากจัดเก็บในอัตรา 15 บาทตลอดสายของส่วนต่อขยายจะได้เงินชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น
“ส่วนต่างจำนวนนี้จะต้องมีการตั้งงบประมาณชดเชยจากสภากรุงเทพมหานคร หากมีการนำเข้าสภากรุงเทพมหานครอาจจะเกิดปัญหาในอนาคตว่า หากสภาเห็นว่าต้องชดเชยการขาดทุนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเท่านี้แล้ว คงไม่ต้องการให้ กทม.เก็บค่าโดยสารเพียง 15 บาท ปัญหาสำคัญของการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นี้คือ การที่การมอบหมายงานในส่วนต่อขยายนี้ยังไม่เคยผ่านสภากรุงเทพมหานครมาก่อน การจะดำเนินการใด ๆ จึงควรที่จะรายงานให้สภากรุงเทพมหานครทราบเสียก่อน”
ขณะเดียวกันเหตุผลที่ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครทำเป็นหนังสือมอบหมายงานโดยไม่ผ่านสภากรุงเทพมหานครนั้น ทราบมาว่าเกิดจากความเข้าใจว่ารายได้จากการเดินรถจะเพียงพอในการจ่ายค่าจ้างเดินรถโดยไม่ต้องตั้งงบประมาณชดเชย ซึ่งเมื่อดำเนินการจริง ๆ แล้วไม่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากในอนาคตจะต้องขออนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานครมาจ่ายในส่วนต่างของรายได้จากค่าโดยสารและค่าจ้างจากการเดินรถ จึงควรนำเรื่องนี้เข้าสภากรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการตอบหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ได้ถามถึงแนวทางการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของผู้บริหารและสภากรุงเทพมหานครนั้น ปัจจุบันทางสภากรุงเทพมหานครได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เพื่อศึกษาในรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า จะนำประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่สภาได้ทันในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยที่ 4 ซึ่งจะประชุมครั้งสุดท้ายในวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565 นี้หรือไม่ ขณะนี้ทางวิปของฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครกำลังพูดคุยกันอยู่ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อาจจะต้องขยายเวลาการประชุมหรืออื่น ๆ เรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ทราบแนวทางการดำเนินงานต่อไป อีกทั้งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก และมีข้อกฎหมายหลายข้อ
“ปัญหาหลาย ๆ เรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดจากการที่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครคิดเองทำเอง โดยไม่ปรึกษาสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งผู้บริหารและสภา กทม.ต้องดูให้รอบคอบ” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1.ส่วนสัมปทาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารเป็นของเอกชนเอกชนตามสัญญาสัมปทาน
2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า รายได้จากค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้จ้างเอกชนเดินรถต่อ มีการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย
3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างเอกชน โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้