56% พนักงานองค์กร  ยังไม่ลาออกก่อนได้งานใหม่    

23 ต.ค. 2565 | 07:44 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2565 | 14:52 น.

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เปิดรายงานล่าสุด คนไทย 80% ที่คิดลาออกปี 2564 ยุติความคิด เพราะต้องรอให้ได้งานใหม่ก่อน ในขณะที่การปรับขึ้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง และการเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถสูงไว้ได้

“แกริต บุคกาต” กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นายจ้างจะเจอภาวะการจ้างงานที่ดุเดือดในช่วงที่เหลือของปี 2565 และปี 2566 ประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจาก  “กระแสการลาออกระลอกใหญ่” (The ‘Not-so Great’ Resignation) คือตลาดการจ้างงานที่จะขยายตัวมากขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้า เนื่องจากพนักงานไม่ได้ตัดสินใจลาออกอย่างไม่ไตร่ตรอง แต่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่มากกว่า
    

“ยิ่งเมื่อเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เราจึงแนะนำให้พนักงานตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง และย้ายงานเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอเข้ามาใหม่แล้วเท่านั้น”

จากกระแสการลาออกระลอกใหญ่ ของพนักงานในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาดหนัก จากรายงานล่าสุดของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส เปิดเผยว่า 50% ของพนักงานในไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เคยคิดลาออกในปีที่ผ่านมา ขณะนี้ ยังไม่ได้ลาออกจริง

 

และในจำนวน 80% ที่เคยคิดลาออกในปี 2564 ของคนไทย มี 56% ที่ไม่ลาออกเพราะรู้สึกไม่สบายใจที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าพนักงานมีโอกาสที่จะย้ายงานได้อยู่เสมอ และส่วนใหญ่กำลังวางแผนย้ายงานในอนาคตอันใกล้ หากมีตำแหน่งที่ตอบโจทย์

สรุปประเด็นการตัดสินใจลาออกหรือไม่ออกของพนักงาน ขึ้นอยู่กับ

 

  1.     จากการสำรวจ มากกว่า 4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทย ระบุว่าพวกเขาจะทำงานกับบริษัทต่อ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์
  2.     เงินเดือนมีผลต่อการตัดสินใจ 38%
  3.     การเลื่อนตำแหน่ง 30%
  4.     การเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบในงาน 27%
  5.     เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทำงานได้อย่างดีที่สุด 42%
  6.     ค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่น 41%
  7.     การทำงานที่ยืดหยุ่น 35%

    

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องตื่นตัว เนื่องจากตลาดการจ้างงานมีการแข่งขันสูงกว่าที่เคยเป็น กลยุทธ์การดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ ไม่ใช่เพียงแค่การเสนอค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี การสร้างความผูกพันพนักงาน และการสร้างแบรนด์นายจ้างที่ยอดเยี่ยม ยังเป็น
สิ่งจำเป็น 

หน้า 18  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565