"บีทีเอส" เปิดใจ ปมประมูลสายสีส้มรอบใหม่ หวั่นรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้าน

01 พ.ย. 2565 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 07:23 น.

"บีทีเอส" ซัดรฟม.ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม กีดกันการแข่งขัน เอื้อเอกชนบางราย ทำประเทศชาติเสียหาย หวั่นรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้านบาท

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีงานเสวนามหากาพย์ 2 ปี กรณี6.8 หมื่นล้าน การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มผลประโยชน์...หรือค่าโง่ที่รัฐต้องมีคำตอบ ว่า การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในโครงการนี้มีอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือเป็นพิรุธ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาว่าเป็นผู้ที่สมควรเข้ารับการคัดเลือกตามกฎหมายหรือไม่ ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการ แต่กลับไม่ดำเนินการจนปล่อยให้เขาเข้ามาเป็นคู่เทียบให้มีการแข่งขันเหมือนกับการแข่งขัน

 

 

 

 "จริงๆแล้วผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่ไม่สมควรเข้ารับการคัดเลือกในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกำหนดไว้ว่า ใครที่เป็นผู้ทิ้งงาน โดยรับงานจากรัฐแล้ว เมื่อถึงเวลากลับดำเนินการไม่เสร็จจะถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่มีสิทธิ์มาทำงานร่วมกับภาครัฐได้อีก"

 

 

 

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการฯนี้กลับดำเนินการให้ผู้ที่ทิ้งงานของภาครัฐกลับมาดำเนินการต่อได้ หากจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายหรือบริษัทนั้นขาดคุณสมบัติก็ไม่ควร ที่ผ่านมามีคณะอนุกรรมาธิการท่านหนึ่งสอบถามว่าคณะกรรมคัดเลือกได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้เต็มที่หรือยัง เพราะตัวเลข 68,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่หลายคนฟังแล้วตกใจ

 

หากมีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จในปี 2563 ภาครัฐจะเสียงบประมาณเพียง 9,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อมีการประมูลอีกครั้งในปี 65 ภาครัฐกลับเสียงบประมาณ 76,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาทางบริษัทเห็นว่าภาครัฐได้นำข้อมูลการเสนอราคาของบริษัทไปเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรองกับผู้ที่ชนะประมูลครั้งใหม่หรือไม่ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเปิดไทม์ไลน์ให้ภาครัฐได้รับทราบ โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 ได้มีการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาและประกาศผลในวันที่ 8 ก.ย.65

 

 

 

ขณะเดียวกันวันที่ 12 ก.ย.65 ทางบริษัทได้ประกาศข้อเสนอด้านราคาในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกที่ยื่นกับรฟม.ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกจะไม่ทราบ

 

 

 

 "มีเหตุผลเดียวที่คณะกรรมการคัดเลือกไม่รับรู้คือไม่สนใจที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปเจรจาแสดงว่ารฟม.ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในเมื่อบริษัทเสนอราคาที่สามารถดำเนินการได้ในปี 63 ทางรฟม.ควรนำข้อมูลดังกล่าวร่วมเจรจาต่อรองด้วย รฟม.ได้ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติหรือไม่ หากท้ายที่สุดการประกาศผลการประมูลใช้งบประมาณดังกล่าวตามผู้ชนะการประมูลเสนอให้กับโครงการฯนั้น แล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ"

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า กรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลฯ ผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้คือผู้ที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยที่สุด ซึ่งอยู่ในรายงานการศึกษา ที่ผ่านมาบริษัทได้โต้แย้งมาโดยตลอดถึงรายงานการศึกษาที่กำหนดไว้ อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้ว รวมทั้งมีการประกาศเชิญชวนใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่กลับเปลี่ยนหลักเกณฑ์กลางคันโดยใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาและผลตอบแทนควบคู่หลักเกณฑ์ด้านเทคนิค ซึ่งบริษัทบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ แต่กลับอ้างว่าสามารถดำเนินการได้

 

"เมื่อมีการประกาศผลการประมูลรอบล่าสุดกลับไม่ใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาและผลตอบแทนควบคู่หลักเกณฑ์ด้านเทคนิค ทำให้บริษัทสงสัยว่าทำไมถึงไม่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวที่มีการอ้างมาตลอด นั่นเป็นเพราะเขาเตะบีทีเอสออกไปแล้ว"

 

 

 

นายคีรี  กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาบีทีเอส จะต่อสู้หรือฟ้องร้องอย่างไร ที่เราอยากได้ที่สุดประมูลแบบปกติใครที่ให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุดเป็นผู้ชนะ