ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์ -มีนบุรี) รอบที่สอง ปัจจุบันได้ตัวผู้ชนะประมูลเป็นที่เรียบร้อยและอยู่ในขั้นตอน อัยการตรวจสอบร่างสัญญา เพื่อเสนอต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายใน 1 เดือน แต่ทั้งนี้หลายฝ่ายกังขาว่า รัฐอาจเสียประโยชน์ เนื่องจาก ส่วนต่างการยื่นขอเงินสนับสนุนสุทธิ ของผู้ชนะประมูล เป็นเงินสูงถึง 78,287.95 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับการยื่นขอเงินสนับสนุนสุทธิในการประมูลรอบแรก ปี 2563 ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นวงเงินเพียง 9,675.42 ล้านบาท เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว พบว่ามีส่วนต่างกันมากถึง 68,612.53 ล้านบาท และหากไม่ล้มประมูลในรอบแรกประเมินว่า BTSC จะเป็นผู้ชนะประมูลเนื่องจากให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC ได้ออกมายืนยันว่า ตัวเลขตัวกล่าวเป็นตัวเลขสะท้อนการลงทุนโครงการสายสีส้ม ได้จริง และยังให้มีผลตอบแทนรัฐที่เหมาะสม ขณะฝั่งของผู้ชนะประมูล นอกจากจะขอรับสนับสนุนจากรัฐเต็มอัตราแล้วยังไม่ลงราคาต่อรอง รวมไปถึงอาจจะไม่มีการพูดถึงการให้ผลตอบแทนภาครัฐอีกด้วย
TOR ส่อกีดกันชัด
ทั้งนี้ ปมใหญ่ของปัญหาคือการปรับแก้หลักเกณฑ์การประมูล ใช้เกณฑ์เทคนิคพ่วงราคา และเมื่อมีการฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อศาลสั่งทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่และคุ้มครองการประมูล รฟม. ก็ชิงล้มประมูลรอบแรกออกไป และการประมูลรอบสอง เดือนพฤษภาคม 2565 เกณฑ์การประมูลเข้มมากกว่าประมูลรอบแรกปี 2563
กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่แตกต่างไปจากการประมูลรอบแรก เช่น การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงในส่วนของคุณสมบัติประสบ การณ์งานโยธา ซึ่งจำกัดไม่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
โดยมีเพียงผู้รับเหมาในประเทศเพียง 2-3 รายเท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมดและทำให้ กลุ่ม BSR หรือ BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เนื่องจากผู้รับเหมาต่างประเทศที่มีประสบการณ์กับรัฐบาลไทยที่มีเพียง 5 ราย มีบางส่วนล้มละลายบางส่วนยกเลิกกิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ไทย และบางส่วนเป็นพันธมิตรกับคู่แข่งที่ร่วมยื่นประมูลในครั้งนี้
ทั้งนี้มีการตัดและเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติประสบการณ์จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและประสบ การณ์ด้านการให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพื่อให้ผู้รับเหมางานโยธาในประเทศที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมดสามารถเข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้รวมเป็น 2 ราย เป็นสาเหตให้ BTSC หรือ กลุ่ม BSR ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อยื่นข้อเสนอประมูลรอบสองได้ เป็นต้น
จี้ศักดิ์สยามตรวจสอบ
ปมร้อนดังกล่าวส่งผลให้ BTSC ได้ส่งหนังสือ ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาคณะรัฐมนตรี (ครม. ) รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565
โดยขอคัดค้านและไม่เห็นชอบกับผลการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนและเอกสารการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ที่สำคัญต้องการให้นายศักดิ์สยาม ตรวจสอบการประมูลดังกล่าวที่เกิดขึ้นในลักษณะกีดกัน และเอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด
รวมถึงขอให้ตรวจสอบและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกวันที่ 6 กันยายน 2565 ฯลฯ และในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุนพ.ศ. 2562 มาตรา 42 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่นำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีและมีหน้าที่ในการพิจารณา
ในหนังสือยังระบุอีกว่า ตามกฎหมายกำหนดว่า รัฐมนตรีจะต้องพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหากทราบว่าโครงการดังกล่าวมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฮั้วประมูลต้องมีคำสั่งยกเลิก มิเช่นนั้นตัวรัฐมนตรีเองจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอัตราโทษที่กำหนดไว้ สูงถึง 10 ปี
ยังไม่ได้รับหนังสือ
ด้าน นายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ระบุว่า บีทีเอสได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 21 ก.ย.2565 เรื่องคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุขนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามประกาศเชิญชวนและเอกชนการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า ไม่สามารถออกความคิดเห็นดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวจากเอกชนแต่อย่างใด
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม
ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ทุกขั้นตอน และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์
ทั้งนี้การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีก
ส่วนกรณีคดีระหว่าง BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดย BTSC ได้กล่าวอ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขทำให้พันธมิตร บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ
ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการ PPP และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562
นอกจากนี้ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องฯ ดังกล่าว
ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (โจทก์)
กับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวม 7 คน (จำเลย) โดยศาลอาญาฯ ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันใช้ดุลพินิจแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563
เพื่อประโยชน์ของรัฐตามข้อเท็จจริง และตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการ PPP โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลอาญาฯ จึงพิพากษายกฟ้อง
ประมูลรอบแรกยกเลิกแล้ว
รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว
ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเองตัวเลขที่อ้างไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด