นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่อยู่ในการศึกษาของ กทม.ขณะนี้ คือ สายสีเทาและสายสีเงิน ซึ่งเป็นโครงการตามแผนแม่บทยังไม่ได้ก่อสร้าง และรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการนานแล้วอย่างสายสีเขียว ทั้งนี้รถไฟฟ้าทั้ง 3 สายนี้ ควรให้ รฟม. โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นโครงข่ายเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดการระบบตั๋วร่วม รวมถึงค่าโดยสารทั้งระบบ
“เราต้องยอมรับ กทม.ไม่มีงบประมาณและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านรถไฟฟ้าโดยตรง ถ้าจัดระดับงานโครงการให้เข้าที่และเหมาะสมได้ ในภาพรวมจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ทั้งโครงการที่ไม่จำเป็นและมีความซ้ำซ้อน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินกับบีทีเอสที่ กทม.ยังมีหนี้สินค้างจ่ายอยู่”
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เบื้องต้นหลังการประชุมเอเปค ทาง กทม.จะมีการนัดหารือกันระหว่าง 2 ผู้นำองค์กร คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. โดยกำหนดหัวข้อการพูดคุย คือ
1.รถไฟฟ้า 2.การเดินรถเมล์ 3.การขอใช้พื้นที่ของกระทรวงคมนาคม 4.Open Data การเดินรถ และ 5.การตรวจจับรถควันดำ จุดโฟกัสจะอยู่ที่ 2 ประเด็นแรก คือการโอนถ่ายรถไฟฟ้าและการเดินรถเมล์ 2 โหมดการขนส่งเคียงคู่ประชาชนเมืองหลวง
สำหรับประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอาจต้องเริ่มหารือเพื่อให้ไปต่อ โดย กทม.จะมีเงื่อนไขในการส่งมอบ ทั้งค่าโดยสาร ค่าตอบแทนการลงทุนในงานโยธา เป็นต้น ส่วนการโอนทรัพย์สินให้กระทรวงคมนาคมจะทำให้กทม.ปลดภาระหนี้จากการรับโอนงานโยธาในส่วนต่อขยายส่วนเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และส่วนใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) มูลค่ารวมกว่า 51,785,370,000 ล้านบาท
ส่วนการหารือการมอบรถไฟฟ้าสายสีเทา-เงิน ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ก่อนเสนอ คจร. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป จากเดิมจะเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้า ครม. ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเทานั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณา EIA แล้ว เหลือเพียงเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่กทม.มีแนวคิดจะนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา-สายสีเงิน โอนให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการนั้น เบื้องต้นจะต้องมีการหารือกับ รฟม. โดยทำตามระเบียบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวดีที่สุด เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการประชุมเอเปค หลังจากการประชุมเอเปคแล้วเสร็จจะมีการนัดหมายหารือกับผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป
“ส่วนข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแทนกรุงเทพมหานครนั้น เหมือนที่เคยพูดไปครั้งที่แล้ว คือกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน คือทำตามขั้นตอนของกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ซึ่ง กทม.ไปดูว่าทำเรียบร้อยหรือยัง”