การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (2)

22 พ.ย. 2567 | 23:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 16:39 น.

การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (2) คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • การแพทย์แม่นยำ ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยพิจารณาจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย การใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม เช่น DNA และ RNA สามารถช่วยคัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ และปรับการรักษาให้ตรงกับลักษณะเฉพาะของแต่ละคน
  • การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์, AI, Genomics, และนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในวงการแพทย์ ช่วยให้การรักษามีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และทำให้วงการแพทย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมการสนับสนุนจากภาครัฐในการวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเล่าเรื่องที่ผมได้รับเกียรติจากทางสมาคมการแพทย์แม่นยำของไต้หวัน (Taiwan Precision Medicine Associations) ให้ไปพูดเกี่ยวกับการรุกตลาดของการแพทย์ยุคใหม่ดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ก็ได้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสานของเรา ได้โทรศัพท์มาหาผม เพื่อขอให้ไปบรรยายให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่นั่นฟัง ผมต้องกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้เกียรตินะครับ หวังว่าผมคงจะไม่ทำให้อาจารย์ท่านขายหน้านะครับ

อันที่จริงเรื่อง Genetics ผมเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มานานเกือบสิบห้าปีเห็นจะได้แล้วครับ เพราะหลานชายของผมที่เป็นลูกของพี่ชายแท้ๆของผม เขาได้ไปเรียนอยู่ที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่มัธยมปลาย พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย Curtin University เขาก็เลือกเรียนวิชาพันธุศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งต้องบอกว่าในช่วงที่เขาเริ่มเรียนนั้น พวกเราญาติๆต่างก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไปเลือกเรียนในวิชาดังกล่าว เพราะถามเขาแล้วว่าเรียนมาเพื่ออะไร? เขาก็ตอบพวกเราอย่างละเอียด แต่ตัวพวกเราที่เป็นญาติๆเอง ก็ไม่เข้าใจในคำอธิบายของเขาจริงๆ เพราะเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ เรารู้เพียงว่าเรียนเกี่ยวกับเรื่องยีนส์หรือจีโนมิกส์(Genomics) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร? จนกระทั่งผมได้ไปเรียนระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์แม่(รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ) อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าโครงการฯท่านแนะนำให้พวกเราดูวีดิทัศน์เรื่อง “14 Growing Industries of the Future” จึงได้เห็นว่า Genomics คือหนึ่งในสิบสี่เรื่องที่เขากล่าวถึงอาชีพในอนาคต (Industries of the Future) ผมจึงกระโดดเข้าไปคลุกคลีกับมันเมื่อมีโอกาส จึงรู้ว่าที่หลานผมไปเรียนมานั้น เป็นวิชาเพื่ออนาคตจริงๆครับ

ที่ประเทศไทยเรา แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "Precision Medicine" หรือ "การแพทย์แม่นยำ" ได้รับความสนใจอย่างมากจากวงการแพทย์และผู้ป่วย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆประการ ทำให้อาจจะไม่ค่อยมีคนได้รับรู้เท่าที่ควร จะมีรู้แต่เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์หรือแพทย์เท่านั้น เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใหม่มากๆ แต่ที่ไต้หวัน เขาได้มีการคิดค้นเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นนวัตกรรมใหม่มาก อีกทั้งไต้หวันเขาเป็นผู้นำทางด้านนี้ จึงได้มีการนำเอาตัวเซมิคอนดักเตอร์ดังกล่าว มาใช้ทางด้านการแพทย์ จึงทำให้เขาวิ่งล้ำหน้าชาติอื่นๆไปไกลมากนั่นเองครับ

การแพทย์แม่นยำหรือ Precision Medicine เป็นการแพทย์ยุคใหม่ ที่เขาสามารถนำเอามาปรับใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยการพิจารณาจากลักษณะทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างจากการรักษาทั่วไป ที่ใช้วิธีเดียวกันกับผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการเหมือนๆกัน ข้อดีของการแพทย์แม่นยำ คือ การปรับการรักษาให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย จึงทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลนั่นเองครับ

หนึ่งในพื้นฐานสำคัญของ Precision Medicine คือการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือGenetics ในการศึกษาลำดับ DNA ของผู้ป่วย เพื่อระบุถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการมีลักษณะพันธุกรรมเฉพาะบุคคล เช่น ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคทางระบบประสาทต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรมของผู้ป่วย การป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดขึ้น การติดตามผลของการรักษา หรือการตรวจหาสิ่งปลอมปนในยีนส์ของเราได้อย่างแม่นยำ

เท่าที่ผมได้ร่วมสัมมนาและนั่งฟังแพทย์ชาวไต้หวันบรรยายทั้งสองวัน พอจะจับใจความได้ว่า หลักการของ Precision Medicine การแพทย์แม่นยำนั้น มีหลักการที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ได้แก่ พันธุกรรม (Genetics) การศึกษาพันธุกรรมช่วยให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงใน RNA ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ดังนั้นการตรวจพันธุกรรมจึงมีความสำคัญในการค้นหาความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคบางประเภท เช่น มะเร็งประเภทต่างๆ โรคหัวใจ และโรคเบาหวานเป็นต้น

ในส่วนของสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ ที่การแพทย์แม่นยำใช้เป็นปัจจัยในการนำมาวินิจฉัยร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการสัมผัสสารพิษต่างๆ ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพ และการพัฒนาของโรคต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้แพทย์ท่านสามารถนำมาพิจารณา ในการปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพฤติกรรมของวิถีชีวิต (Lifestyle)ของผู้ป่วย ก็มีส่วนสำคัญให้มีการนำมาเป็นปัจจัยร่วมวินิจฉัยด้วยเช่นกัน เพราะการมีวิถีชีวิตที่ดี และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการขาดการออกกำลังกาย จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันโรคและการรักษาที่ได้ผลดียิ่งนั่นเองครับ

จะเห็นว่าในยุคปัจจุบันนี้ การแพทย์มีวิวัฒนาการใหม่ๆเข้ามามากมาย ซึ่งไต้หวันเขายังนำเอาเทคโนโลยี่ที่เป็น Innovations อาทิเช่น AI ,Genetics ,Semiconductor ,3D-Printing ,Robotic และ Nano-Technology มาใช้ในวงการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความรู้ (Health Education) การป้องกัน (Health Prevention) การให้ภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ (Health Protection) ซึ่งสามารถครอบคุมถึงการรักษาอย่างแม่นยำ โดยนำมาผสมผสานใช้ร่วมกับวิธีการแบบดั้งเดิมที่เคยใช้มาช้านาน จนทำให้วงการแพทย์ของไต้หวันเป็นที่ยอมรับ อันดับของการแพทย์ของเขาในโลกนี้ จึงก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งผลงานวิจัยของเขา ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐฯของเขา โดยการทุ่มงบประมาณออกมาส่งเสริมช่วยเหลือ ให้กลุ่มนักวิจัยทำการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างมากมาย ทำให้มีผลงานวิจัยออกมาตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นเหตุทำให้ผมมีความเชื่อว่า ในอนาคตอีกไม่นานเกินรอ ถ้าเรายังไม่รีบด่วนจะจากไปเสียก่อน เราต้องได้เห็นผู้คนส่วนใหญ่ ล้วนมีอายุยืนยาวเกิน 120 ปีอย่างแน่นอนครับ นี่ไม่ใช่ความเพ้อฝันอย่างลมๆแล้งๆนะครับ