เอกชนรุมจีบ ทอท.ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบ “สนามบินสุวรรณภูมิ” 723 ไร่

16 พ.ย. 2565 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 13:46 น.

ทอท.ลุยเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบ “สนามบินสุวรรณภูมิ” 723 ไร่ วงเงิน 1.7 พันล้านบาท คาดตอกเสาเข็มเสร็จ 1 ปี เผยเอกชนแห่ลงทุน ผุดไอเดียอัพเกรดที่ดิน 40-50 โครงการ หนุนธุรกิจด้านการบิน-ตลาดสินค้าเกษตร คาดปี 67 มีสัดส่วนรายได้ Non – Aero แตะ 60%

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า ปัจจุบัน ทอท.ได้ประมูลงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคหลักในที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ ในวงเงินราว 1,769 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ที่จะเข้ามาเปิดให้บริการในพื้นที่ โดยคาดว่างานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานฯ จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปีหลังจากนี้

 

ทั้งนี้การพิจารณาโครงการลงทุนในที่ดินแปลง 723 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาร่วมลงทุนในโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่ง ทอท.จะเน้นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจหลักด้านการบิน แต่เบื้องต้นมีเอกชนมาเสนอไอเดียพัฒนาโครงการแล้วราว 40 – 50 โครงการ โดย ทอท.จะต้องเลือกโครงการที่เหมาะสม หากมีเอกชนสนใจรายเดียวก็สามารถทำสัญญาได้เลย แต่หากมีเอกชนสนใจหลายรายก็จะต้องเปิดประมูล
 

สำหรับโครงการที่ ทอท.เล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนา เป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจด้านการบิน อาทิ ตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ต่อยอดกับธุรกิจศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ที่ ทอท.ดำเนินการในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) รวมไปถึงโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ โครงการบ้านพักพนักงาน และศูนย์กระจายสินค้าส่งออก โชว์รูมรถซุปเปอร์คาร์ เพื่อทดลองขับและชำระภาษีนำเข้าเบ็ดเสร็จได้ที่นี่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้นำไปพัฒนาเลนจักรยานแล้วบางส่วน จะเหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ โดย ทอท.จะพิจารณาธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ดินแปลง 723 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้พื้นที่ด้านการบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องตอบโจทย์เป็นโครงการไม่กระทบด้านการบินและเป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจการบิน
 

ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ทอท.ตั้งเป้าว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้ขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่พึ่งพาเฉพาะรายได้จากธุรกิจการบินที่มีปัจจัยแวดล้อมกระทบ อย่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้ด้านการบินลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะเป็นรายได้จากธุรกิจนอกเหนือการบิน หรือ Non - Aero ที่สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องและยั่งยืน 

 

อย่างไรก็ตามช่วงโควิดเป็นช่วงที่ ทอท.เราซุ่มฟักตัว ปรับกลยุทธ์หารายได้จาก Non – Aero มากขึ้น ไม่เพียงรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์จากที่ดินแปลงต่างๆ หรือพื้นที่ในอาคารสนามบิน แต่หลังจากนี้จะได้เห็น ทอท.มีรายได้เชิงพาณิชย์จากพื้นที่ไม่จำกัดในโลกเสมือนจริง ผ่านการหารือรายในบริการแอปพลิเคชัน Sawasdee by AOT พันธมิตรร้านค้าต่างๆ จะเข้ามาให้บริการในแอปพลิเคชันนี้ ก็จะได้เห็นในปี 2567 ทอท.จะมีรายได้ Non – Aero สูงกว่ารายได้ Aero โดยคาดว่าจะมีสัดส่วน Non – Aero อยู่ที่ 60% และ Aero อยู่ที่ 40%