ท่าอากาศยานเชียงใหม่นับเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ หนึ่ง ในจำนวนทั้งหมด 6 แห่ง บริหารงานของ บริษัท ท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ปัจจุบันพบว่าอาคารรอง รับผู้โดยสารเกิดขีดจำกัด ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการมีความหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทอท.เร่งศึกษาออกแบบพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางอากาศ สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818 ล้านบาท ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบและทบทวนการวิเคราะห์ของโครงการฯ วงเงิน 280 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการการเงินฯของทอท.แล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายในเดือนตุลาคม 2565 และดำเนินการศึกษาและออกแบบภายโครงการฯ ภายในเดือนเมษายน 2566 ใช้ระยะเวลาดำเนินการออกแบบราว 1 ปี คาดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567
นอกจากนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอขออนุมัติ โครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนภายในเดือนตุลาคม 2566 และดำเนินการประมูลหาผู้รับจ้างและดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดเปิดให้บริการภายในปี 2569
สำหรับการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 2. การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 3. ก่อสร้างทางขับและทางขับออกด่วนเส้นใหม่ 4. ปรับ ปรุงขยายลานจอดอากาศยาน 5. ปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน 6. งานปรับปรุง ระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงผลิตนํ้าประปา, งานปรับปรุงและขยายโรงบำบัดนํ้าเสีย และ 7. งานปรับปรุงอาคารสำนักงานและลานจอดรถ ทั้งนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2569 ส่งผลให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 8.5 ล้านคนต่อปี จากเดิมสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี รวมเป็นรองรับได้ทั้งสิ้น 16.5 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ในปัจจุบันอาคารรองรับผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) ได้ จำนวน 6 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) จำนวน 2 ล้านคนต่อปี แต่ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 พบปัญหาความแออัดของผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) จำนวน 3.2 ล้านคนต่อปี ทำให้มีปริมาณความต้องการเดินทางเกิดขีดจำกัดถึง 60% และผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) จำนวน 8.1 ล้านคนต่อปี ทำให้มีปริมาณความต้อง การเดินทางเกิดขีดจำกัดถึง 35%
ขณะเดียวกันทอท.มี แผนดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนระยะการดำเนินงานและการศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้นของโครงการฯ (Prelimnary feasibility study) โดยมีแผนพัฒนาสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. การขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 2. ขยายบานจอดอากาศยาน และ 3. ขยายระบบถนนภายใน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของการเดินทางทางอากาศและสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ทั้ง 2 ระยะ ดำเนินการแล้วเสร็จเปิดให้บริการ จะทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ทั้งหมด 20 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) จำนวน 12 ล้านคนต่อปี และปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) จำนวน 8 ล้านคนต่อปี