เปิดวิธีป้องกันตัวจากแก๊งทวงหนี้ ลูกหนี้ต้องรู้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

20 พ.ย. 2565 | 02:59 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2565 | 10:15 น.

เปิดวิธีป้องกันตัวจากแก๊งทวงหนี้ผิดกฎหมาย  รัฐบาลชี้ช่องให้ลูกหนี้ไว้ใช้ป้องกันตัว ทางออก สิ่งที่ลูกหนี้ต้องรู้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

 

 

 

 

 

 

การออกโรง เตือนประชาชนอย่างหลงเชื่อ การหลอกลงทุนและการปล่อยกู้ผ่านออนไลน์ ของหน่วยงานภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ อย่างต่อเนื่อง  แต่กลับพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อ และมีแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ทวงถามหนี้เงินกู้เพิ่มมากขึ้น พร้อมชักชวนให้ทำการกู้เงินในวงเงินเพิ่มเติม

 

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนตั้งสติหากถูกแก๊งทวงหนี้แอบอ้าง ข่มขู่ แล้วทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ดำเนินคดีแล้วแจ้งเบาะแสการกระทำผิดไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รวบรวมข้ออ้างที่คนทวงหนี้ใช้บ่อย ซึ่งมักอ้างกฎหมายมาขู่ลูกหนี้ให้กลัว

 

ทางออก สิ่งที่ลูกหนี้ต้องรู้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เช่น

 

 

  • การขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งความจริงคือ การไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้

 

  • จะมีการยึดทรัพย์ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องต่อศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน

 

  • การโทรทวงเช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ กฎหมายให้ทวงหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น

หากประชาชนถูกทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ( พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ลูกหนี้สามารถร้องเรียนหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร.1213 โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น

 

การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

 

มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง