การประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพมาตลอดทั้งปีนี้ ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้ให้การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok goals on BCG Economy ที่ริเริ่มและนำเสนอโดยประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจได้ชื่นชมไทยและรับที่จะไปขยายผลต่อ ขณะที่ภาคเอกชนไทยที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับลูกที่จะไปขยายผลต่อทั่วประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า เศรษฐกิจ BCG ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็น 1 ในนโยบายสำคัญของ ส.อ.ท.ที่จะเร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมนับจากนี้
โดยเศรษฐกิจ BCG จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดในการผลิตสินค้า ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการแปรรูปให้กับภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ผลิตโดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศ ที่สำคัญจะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ตามแนวทาง BCG ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้าใหม่ ๆ ในอนาคต และช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้า
สำหรับเศรษฐกิจ BCG นี้รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของ ส.อ.ท.ได้เริ่มดำเนินการนำร่องในเรื่องนี้แล้ว โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry : SAI) ร่วมกับภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเพาะเห็ดเพื่อแปรรูปเป็นโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ (Plant Based) ที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์แนวทาง BCG เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ทิ้งของเสีย ใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งในการประชุมเอเปคได้มีการโชว์เคสให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจ และผู้นำภาคธุรกิจจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
“ในการประชุมเอเปคเราได้ขายไอเดีย SAI ให้ผู้นำภาคธุรกิจ และผู้นำเขตเศรษฐกิจ ซึ่งผู้นำภาคธุรกิจเอกชนจากต่างประเทศที่มาประชุมให้ความสนใจมาก ถามว่าโครงการจะเสร็จเมื่อไรจะบินเข้ามาดู” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ดีทาง ส.อ.ท. มีแผนจะพัฒนาโครงการ SAI ให้ครบทั้ง 5 ภาค รวมถึงจะผลักดันโครงการ1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด โดยใช้เรื่อง BCG ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นตัวนำ โดยพิจารณาตามศักยภาพของพื้นที่ และตามศักยภาพพืชผลทางการเกษตรที่จะจับคู่กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง อาหารเสริม ไบโอพลาสติกไบโอที่เป็นเส้นใยเพื่อนำไปทอผ้า ไบโอเคมีคัล ไบโอเฟอร์ติไลเซอร์ที่เป็นปุ๋ยชีวภาพ รวมถึง Plant Based เป็นต้น
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในภูมิภาคอาเซียนไทยถือมีความพร้อมมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG จากมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชผลทางการเกษตร และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้วถึง 20% ถือว่าสูงสุดในอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 2-3 % รวมถึงไทยยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ดี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่อยู่อันดับต้น ๆ ของภูมิภาค
“ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG ที่เป็นความยั่งยืน จะเลือกมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นผลดีที่จะทำให้มีเม็ดเงินใหม่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเข้ามามากขึ้นในปีหน้า และในอนาคตจะช่วยพลิกโฉมหน้าการลงทุน การส่งออก ของไทย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่ตอบโจทย์ Health & Wellness ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด โดยก่อให้เกิดการตื่นตัวและการรับรู้เรื่อง BCG ในวงกว้างไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งหอการค้าไทยได้พยายามสื่อสารว่า นี่ไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้จะสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังรวมถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย
ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสื่อสาร และขับเคลื่อนต่ออย่างจริงจัง เพราะ BCG เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถปรับใช้ได้ เช่น ภาคการเกษตร การนำพันธุ์ข้าวต่าง ๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพสูง ขายได้ราคาดีในตลาดโลก ภาคการท่องเที่ยวสามารถยกระดับสู่ BCG Tourism ในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ หรือแม้แต่ภาคบริการ ที่สามารถตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติก การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล การจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร เป็นต้น
“ในการจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. 65 ณ จ.อุบลราชธานี นี้ หอการค้าไทย ได้ชูประเด็นการเดินหน้าสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการขับเคลื่อน BCG และ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล)อย่างจริงจัง โดยจะถูกบรรจุเป็นข้อเสนอในสมุดปกขาว เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในช่วงท้ายของการ สัมมนาฯ ด้วย เชื่อว่าจะช่วยเสริมกระแสการตื่นตัวของภาคเอกชนในต่างจังหวัดในเรื่อง BCG ได้มากยิ่งขึ้นด้วย” นายสนั่น กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3839 วันที่ 27 -30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565