ค่าไฟไม่ขึ้นได้ไหม? เอกชนวอนรัฐช่วยประคองภาคอุตสาหกรรม

30 พ.ย. 2565 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 15:57 น.

ค่าไฟไม่ขึ้นได้ไหม? เอกชนวอนรัฐช่วยประคองภาคอุตสาหกรรม แนะปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 23 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการปรับค่า Ft งวดใหม่” พบว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 นั้น ส.อ.ท. ได้มีการสำรวจความเห็นจากผู้บริหาร ส.อ.ท. ในเรื่องดังกล่าว พบว่า

 

ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐคงค่า Ft งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมองว่าราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง และจะส่งผลทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทยอยปรับลดลงตามไปด้วย 

 

ประกอบกับที่ผ่านมา ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งสิ้น 

ในส่วนการบริหารจัดการหนี้ที่ต้องทยอยคืน กฟผ. จากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง จำนวน 83,010 ล้านบาท ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ เสนอว่า กฟผ. ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สามารถรับภาระหนี้ได้มากขึ้นและยาวนานมากกว่า 2 ปี เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการหนี้และลดผลกระทบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไป 

 

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังเสนอว่า ภาครัฐควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตั้งโซล่าเซลล์ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากเอกชน การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนที่จูงใจต่อการลงทุน เป็นต้น 

 

เอกชนวอนรัฐไม่ขึ้นค่าไฟ

 

ส่วนด้านการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีการเสนอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบจากการทำนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน รวมทั้งปรับสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศและลดภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 171 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 

 

45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 23 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

 

1.  สืบเนื่องจาก กกพ. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ท่านคิดว่าแนวทางการปรับอัตราค่า Ft แบบใดจะมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน (Single choice)

  • คงค่า Ft ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย  88.3% เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงปี 2566
  • ปรับค่า Ft เป็น 158.31 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10.5% 5.37 บาทต่อหน่วย (เพิ่มขึ้น 14%)
  • ปรับค่า Ft เป็น 191.64 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% 5.70 บาทต่อหน่วย (เพิ่มขึ้น 21%)
  • ปรับค่า Ft เป็น 224.98 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% 6.03 บาทต่อหน่วย (เพิ่มขึ้น 28%)

 

2.  ภาครัฐควรบริหารจัดการหนี้ที่ต้องทยอยคืน กฟผ. จากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง จำนวน 83,010 ล้านบาทอย่างไร (Single choice)

  • กฟผ. เพิ่มการรับภาระหนี้ให้ได้มากและยาวนานขึ้นมากกว่า 2 ปี 44.4% เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น
  • รัฐจัดสรรงบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ กฟผ.  35.7% 
  • ทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยหนี้ที่ต้องคืน กฟผ. ผ่านการปรับขึ้นค่า Ft  19.9%

 

3.  ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร (Multiple choices)

  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน 81.3% เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak เช่น อำนวยความสะดวกในการขออนุญาต สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากเอกชน เป็นต้น
  • สนับสนุนส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 49.7% จากเดือนฐาน
  • ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) 45.0%
  • สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยน 43.9% เครื่องจักร/อุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน  

      
4.  ภาครัฐควรปรับนโยบายการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าอย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสร้างความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน (Multiple choices)

  • แก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบจากการทำนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้า 70.2% ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน
  • รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เช่น Solar Cell, Biogas, 69.0% Biomass เป็นต้น 
  • ทบทวนการกำหนดอัตราสำรองไฟฟ้าให้อยู่ในระดับไม่เกิน 15% 57.3% และชะลอโครงการใหม่เพื่อลดภาระ Reserve Margin ที่สูงเกินความจำเป็น 
  • ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานที่มีราคาสูงในการนำมาผลิตไฟฟ้า 46.8%

 

5.  ภาครัฐควรดำเนินการในเรื่องใดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน (Multiple choices)

  • ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  85.4% และการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การปรับขั้นตอนการอนุญาตติดตั้ง Solar cell อัตราการรับซื้อไฟฟ้าคืน เป็นต้น
  • เร่งเปิดให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้า (Third Party Access)   68.4% เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง/จำหน่ายของ 3 การไฟฟ้าได้
  • ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ 64.3% เพื่อการประหยัดพลังงาน ทั้งมาตรการด้านการเงินและด้านภาษี 
  • พัฒนาและจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านพลังงาน (Energy Database) 47.4% ของประเทศ เพื่อนำไปใช้วางแผนการส่งเสริมการใช้พลังงานและนำไปสู่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)