นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้บริษัทฯ ทบทวนและชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต –สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16 - 44 บาท ปรับเป็น 17 - 47 บาท ว่า เดิมทางบริษัทได้กำหนดการปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่กทม.ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทในการชะลอปรับขึ้นค่าโดยสารออกไปก่อน จากการหารือร่วมกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) มีมติให้บริษัทตรึงค่าโดยสารและขยายเวลาการปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 1 มกราคม 2566 แทน
“ปัจจุบันยังไม่ได้รับหนังสือจากกทม.คาดว่าอยู่ในช่วงกำลังเดินทางมาถึงบริษัท ทั้งนี้การตรึงค่าโดยสาร ทางบริษัทไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เบื้องต้นจะต้องหารือกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ในการพิจารณาตัดสินใจก่อน หากมีการตัดสินใจอย่างไร บริษัทจะตอบกลับต่อกทม.อีกครั้ง เราต้องขอความเห็นใจด้วย เพราะบริษัทไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารราว 5 ปีแล้ว เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร คือ ผลกระทบจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกทั้งบริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการสูงสุดถึง 98 ขบวน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้พยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาโดยตลอด
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หากยังคงตรึงค่าโดยสารตามเดิมจะทำให้กระทบต่อรายได้บริษัท ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก แต่มีความเป็นที่จะต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ถือเป็นเงินลงทุนของประชาชน เรื่องใดที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาก็ควรดำเนินการ
สำหรับหนังสือที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอความร่วมมือให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ทบทวนและชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บออกไปก่อนนั้น ระบุว่า กทม.ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก ประกอบกับบริษัทฯ ยังมีรายได้ทางอื่น นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารเพื่อมาชดเชย อาทิ รายได้จากการประกอบพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว, รายได้จากการโฆษณา, รายได้จากการอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีและอาคารบุคคลภายนอก ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำมาช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากการดำเนินงานของบริษัทฯได้
อย่างไรก็ตามบริษัท BTSC ได้แจ้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นการขอปรับขึ้นค่าโดยสารที่เรียกเก็บ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนระหว่าง กรุงเทพมหานครกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (สัญญาสัมปทานฯ) ข้อ 13.2 ได้ระบุว่าค่าโดยสารที่เรียกเก็บ จะต้องไม่เกินไปกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ ซึ่งบริษัทฯ จะต้องแจ้งให้ กทม. และประชาชนทั่วไปทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงค่าโดยสารที่เรียกเก็บล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันที่ค่าโดยสารใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้เมื่อเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 21.52 – 64.53 บาท