วันนี้(6 ธ.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แนะถึงการช่วยยกระดับเศรษฐกิจที่ฐานรากจะให้รุ่งได้ต้องโฟกัสเรื่อง “อีคอมเมิร์ซ” ให้มาก เพราะเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก โดยระบุว่า ด้วยความที่ผมลงพื้นที่ช่วงนี้บ่อยๆ และสิ่งที่ได้รับเมื่อกลับมานอกจากการต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดีแล้ว ผมยังได้ไปอุดหนุนสินค้าของกิน ของฝากประจำถิ่นนั้นๆ มาด้วย ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้เรื่องหนึ่งครับ
ทุกครั้งหลังจากกลับมาแล้วได้สักพัก บ่อยครั้งที่ผมยังคงคิดถึงของดีประจำถิ่นเหล่านั้น และก็บ่อยครั้งเช่นกันที่รู้สึกเสียดายว่าทำไมซื้อติดไม้ติดมือมาเพียงนิดเดียว ผมจึงคิด ๆ ดูว่า คงจะดีไม่น้อย ถ้าสามารถซื้อหาได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ อยู่บ้านก็สามารถได้กินของดีประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้ จากร้านที่เราเพิ่งไปซื้อมาและชอบ
นั่นจึงทำให้ผมนึกขึ้นมาครับว่า เราต้องการอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) สำหรับสินค้าท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายชองดีของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปทั่วประเทศและต่างประเทศได้ด้วย เป็น E-commerce ของชาวบ้านจริงๆ
เมื่อมองย้อนไปในสมัยผมยังบริหารกระทรวงพาณิชย์ เราเคยร่วมมือกับ Tmall.com ของ แจ็ค หม่า ในการนำผลไม้ของไทยโดยเฉพาะทุเรียนขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มของเขา ปรากฏว่า ขายดีมากครับ ถ้าจำไม่ผิดนาทีเดียวขาย 80,000 ลูก ใช้เวลา 3 วันขายไป 130,000 ลูก นี่เพียงแค่ไม่กี่วันเราขายทุเรียนไปได้กว่า 70 ล้านบาทเลยนะครับ เพราะชาวจีนต้องการกันมาก
ไอเดียมันเกิดจากจับมือกับคนที่เขามีความพร้อมในตลาดที่เราต้องการ เอาสินค้าไปวางพร้อมตรงหน้าผู้ซื้อ ให้เขาจิ้มซื้อได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องรอมาเมืองไทยก่อนถึงจะได้กิน
แน่นอนครับ ผมคิดว่าจุดนี้เราก็เอามาใช้ในประเทศได้เช่นเดียวกัน ยังมีคนไทยจำนวนมาก รวมถึงผมด้วย ที่อาจจะไม่สะดวกเดินทางท่องเที่ยวบ่อยนัก แต่ยังอยากกินขนมเจ้าดังที่เชียงใหม่ เห็ดโคนของเมืองกาญจน์ หรือ ปลากุเลา ตากใบทางภาคใต้ ถ้าเรากดสั่งได้เลยจากโทรศัพท์มือถือก็คงจะดีไม่น้อยใช่ไหมครับ
ที่ผ่านมา ช่องทางที่ผมเคยผลักดันก็เคยมีอยู่บ้าง เช่น Thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็เน้นไปที่ต่างชาติมากกว่า ดังนั้นแล้ว เราอาจจะต้องมาคิดกันว่า จะผลักดันอย่างไรให้เกิด อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) บนแพลตฟอร์ม
สำหรับคนไทยไว้ใช้ซื้อหาสินค้าจากท้องถิ่นต่าง ๆ นำโดยภาครัฐ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีแอปพลิเคชันสำหรับช็อปปิ้งออนไลน์มากมาย แต่ก็คงจะดี ถ้ามีอีกแรง เพราะคนที่มีข้อมูลทุกอย่าง เข้าถึงพื้นที่ได้ จะมีใครละครับ นอกจากภาครัฐ
นี่ไม่ใช่เพียงแค่ให้ผู้คนสามารถซื้อหาของที่ถูกใจเท่านั้นนะครับ ผลกระทบที่สำคัญคือเป็นการสร้างได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย เศรษฐกิจก็จะขยายตัวออกไปได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
ผู้ประกอบการในพื้นที่ห่างไกลจะไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวผ่านมาอีกต่อไป แต่เราจะพาผู้ประกอบการได้เจอกับผู้คนทั่วประเทศ หรืออาจจะทั่วโลกได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ยิ่งในช่วงเวลานี้ ช็อปปิ้งออนไลน์เป็นที่นิยมมาก เราต้องช่วยให้พี่น้องของเราไม่พลาดขบวนการค้านี้
เพราะนับแต่นี้ต่อไปนะครับทุกท่าน อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) จะไม่ใช่ทางเลือกแล้วครับ แต่จะเป็นทางรอดของทุกคน