การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งก่อสร้าง ทางพิเศษ (ทางด่วน) พระราม 3 เชื่อมโยง โครงข่าย ทางพิเศษสามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่ – ดาวคะนอง อีกทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร (กม.)มูลค่าโครงการกว่า 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันความคืบหน้าทั้งโครงการฯ มีผลงาน 39.82% เร็วกว่าแผนงาน 5.68%แผนงาน 34.14% ทั้งนี้ระยะเวลาการก่อสร้างระหว่างสัญญาที่ 1,สัญญาที่ 3 และสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 4 ห่างกันถึง 2 ปี ทำให้กทพ.พยายามเร่งรัดผู้รับจ้างแต่ละสัญญาให้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จให้ทันตามแผน คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้งโครงการภายในปลายปี 2567 โดยจะใช้รูปแบบการจัดเก็บค่าผ่านทางระบบ M-FLOW
ขณะที่ความคืบหน้าสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงิน 900 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างทีโออาร์ให้เป็นระบบ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลหาผู้รับจ้างภายในต้นปี 2566
ส่วนสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 (กม.13+000-กม.6+630) ระยะทางรวม 6.369 กม. วงเงิน 7,350 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-ซีซี ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด มีความคืบหน้าผลงาน 12.02% เร็วกว่าแผนงาน 2.35% แผนงาน 9.67%
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ตั้งแต่ กม.6+600 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,440 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้าผลงาน 55.47% เร็วกว่าแผนงาน 0.03% แผนงาน 55.44%
ขณะเดียวกันสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 7,359 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้าผลงาน 10.88% เร็วกว่าแผนงาน 1.21% แผนงาน 9.67%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) โดยมีบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับจ้างมีความคืบหน้า 89.16% เร็วกว่าแผน 20.55% แผนงาน 70.66%
สำหรับโครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร (กม.) มีทางขึ้น-ลง 7 แห่ง ประกอบด้วย ด่านแห่งที่ 1 (ถนนพระราม 2 ซอย 84 ใกล้ชุมชนบางกระดี่) ด่านแห่งที่ 2 (ถนนพระราม 2 ซอย 69 ใกล้ถนนบางขุนเทียน) ด่านแห่งที่ 3 (ถนนพระราม 2 ซอย 50 ใกล้วัดเลา) ด่านแห่งที่ 4 (ถนนพระราม2 ซอย 33 ใกล้วัดยายร่ม)ด่านแห่งที่ 5 (ถนนพระราม 2 ซอย 27 ใกล้ถนนพุทธบูชา) ด่านแห่งที่ 6 ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านแห่งที่ 7 ด่านบางโคล่ โดยที่ด่าน ดาวคะนอง 2 จะเป็นด่านยกระดับ
ทั้งนี้โครงการฯเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ที่ กม.13+000 ของถนนพระราม 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางขวาเข้าซ้อนทับกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 โดยจะก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ซึ่งมีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช และทางด่วนเฉลิมมหานคร บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ