การประกวดราคาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่มีความคลาดเคลื่อนว่า กรณีที่มีการยกเลิกการประกวดราคาโครงการฯ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคากลางความคืบหน้าของโครงการและคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายใหม่ และกรณีมีผู้อื่นร้องอุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะการประกวดราคานั้น
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กทพ. ดำเนินการเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ (พ.รบ.) จัดซื้อจัดจ้างและกรบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 114 โดย กทพ. ได้ชี้แจงเหตุผลและยืนยันผลการพิจารณาให้ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาเสนอต่อคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของผู้ร้องอุทธรณ์ คือ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างๆ มาตรา 41 โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มีผลการพิจารณาคือ-สัญญาที่ 1 คำอุทธรณ์ของผู้ร้องอุทธรณ์ฟังขึ้น จากที่มีผู้ยื่นร้องอุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะจำนวน 2 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเนื้อหาในข่าวที่นำเสนอว่ามีเพียง 1 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ขณะที่สัญญาที่ 2 คำอุทธรณ์ของผู้ร้องอุทธรณ์ คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฟังไม่ขึ้นจึงได้มีการทำสัญญาจ้างและก่อสร้างไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเนื้อหาในข่าวที่นำเสนอว่าไม่มีผู้ร้องอุทธรณ์ ส่วนสัญญาที่ 3 คำอุทธรณ์ของผู้ร้องอุทธรณ์ คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพียงรายเดียว ฟังขึ้น แต่คลาดเคลื่อนจากเนื้อหาในข่าวที่นำเสนอว่ามี บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมยื่นร้องอุทธรณ์ด้วย ทั้งนี้กทพ. จึงได้ยกเลิกประกาศประกวดราคางานจ้างก่อสร้างโครงการฯ สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 เนื่องจากไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการพิจารณา
รายงานข่าวจาก กทพ. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของราคาค่าก่อสร้างปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลางค่าก่อสร้างในสัญญาที่ 1 และ สัญญาที่ 3 สำหรับเตรียมการประกวดราคาครั้งใหม่ในปี 2564 ซึ่งการคำนวณราคากลางเป็นไปตามแนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งออกประกาศโดยกรมบัญชีกลางและหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานถือปฏิบัติ โดยอาจมีปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากราคากลางในการประกวดราคาครั้งที่ผ่านมาในส่วนหลักๆ ดังนี้
1. กทพ. ได้มีการปรับลดระยะเวลาก่อสร้างของงานในส่วนของสัญญาที่ 1 และ สัญญาที่ 3 จากเดิม 39 เดือน คงเหลือ 34 เดือน เพื่อให้แผนการเปิดใช้ทางพิเศษสอดคล้องกันกับงานก่อสร้างในสัญญาที่ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว
2. ราคากลางค่าก่อสร้างในการประกวดราคาครั้งที่ผ่านมาคำนวณไว้ (ธันวาคม 2561 )เทียบกับราคากลางที่อยู่ระหว่างจัดทำ ณ ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2564) มีพื้นฐานความแตกต่างของราคาวัสดุก่อสร้างรายการหลักของงานทางและสะพาน ซึ่งอาจแปรผันไปตามราคาตลาดโลกและราคาในประเทศไทย
ขณะเดียวกันกรณีความคืบหน้าของโครงการที่คลาดเคลื่อนโดยข้อเท็จจริงงานโยธา สัญญาที่ 1 และ 3 ได้มีการยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้าง และปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาครั้งใหม่ ซึ่ง กทพ. ไดปรับลดระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม 39 เดือน ลดลงเหลือ 34 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2567 ไม่ใช่ตามที่ระบุว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 และเลื่อนเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จออกไปเป็นปี 2565 รวมถึงยังไม่มีการดำเนินงานก่อสร้างทางและโครงสร้างสะพานขึงส่วนบนในส่วนของงานโยธา สัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 4 ตามเนื้อหาที่ได้นำเสนอแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในส่วนการกำหนดคุณสมบัติผู้อื่นข้อเสนอในการประกวดราคาครั้งใหม่ปัจจุบัน กทพ. ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการประกวดราคาครั้งใหม่ โดย กทพ. ยังคงยืดแนวทาการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตามแนวทางเดิมในการประกวดราคาครั้งที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีประกาศของกรมบัญชีกลางเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เรื่องแนวปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและให้ทุกหน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติ (ซึ่งเป็นการประกาศมาในภายหลังการประกวดราคา) และแนวปฏิบัติดังกล่าวอาจทำให้สิทธิในการยื่นข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอบางรายในการประกวดราคาครั้งที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไป กทพ.จึงได้มีการหารือไปยังกรมบัญชีกลางในประเด็นที่ กทพ. มีข้อสังเกตว่าการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะมีผลต่อการประกวดราคาครั้งใหม่หรือไม่อย่างไร เพื่อให้เกิดความรอบคอบและชัดเจนก่อนจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาครั้งใหม่
ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564