กทพ.ลงนามจ้างบ.ล็อกซเลย์ สร้างด่วนพระราม3

30 ก.ย. 2564 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 12:14 น.

กทพ. ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ลุยสร้างทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง สัญญาที่ 5 วงเงิน 24 ล้าน ระยะเวลา 180 วัน เตรียมรื้อย้ายด่านเก็บค่าผ่านทางสร้างทางยกระดับ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างระหว่าง กทพ. กับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หรือทางด่วนพระราม3 สัญญาที่ 5 (งานรื้อย้ายด่านเก็บค่าผ่านทางพระราม 3) มีระยะเวลาดำเนินงาน 180 วัน งบประมาณ 24 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสาย พระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดย กทพ. มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายด่านจัดเก็บค่าผ่านทางพระราม 3 เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างทางยกระดับในโครงการฯ ซึ่งดำเนินการโดยผู้รับจ้าง สัญญาที่ 4

กทพ.ลงนามจ้างบ.ล็อกซเลย์ สร้างด่วนพระราม3

ขณะเดียวกันกทพ. จึงต้องการจัดจ้างงานก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งระบบ เพื่อใช้งานที่ด่านฯ พระราม 3 แห่งใหม่ และรื้อถอนอุปกรณ์เดิมออกจากด่านฯ พระราม 3 ปัจจุบัน พร้อมส่งมอบให้ กทพ. และ ขนย้ายไปเก็บในสถานที่ที่ กทพ. กำหนด และโดยที่การจัดเก็บค่าผ่านทางที่ด่านฯ พระราม 3 ในปัจจุบัน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้มีสิทธิในการดำเนินการในฐานะ ผู้รับสัมปทานจาก กทพ.

ทั้งนี้ ในการก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่ด่านเก็บค่าผ่านทางฯ พระราม 3 แห่งใหม่นี้ ต้องการให้มีการใช้งานในลักษณะเดียวกันกับที่ด่านฯ พระราม 3 ซึ่งปัจจุบันใช้งานอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของชอฟต์แวร์ และโปรแกรมจะต้องใช้ซอฟต์แวร์และโปรแกรมที่ทำงานร่วมกับระบบปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการปฏิบัติงานของพนักงานที่ด่านเก็บค่าผ่านทางฯ พระราม 3 แห่งใหม่นี้กับด่านเก็บค่าผ่านทางฯ อื่น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งเพื่อไม่ให้เป็นภาระในงานซ่อมบำรุงของ BEM และ กทพ. 

 

 

 

 

สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นโครงการทางพิเศษที่อยู่ในแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตก รวมถึงการเดินทางจากจังหวัดในภาคใต้ของประเทศ เพื่อช่วยให้ การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ เฉลิมมหานคร ช่วงดาวคะนองถึงท่าเรือ รวมถึงบนถนนพระรามที่ 2 ในปัจจุบัน