ภาครัฐพยายามเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสะดวกมากขึ้น ที่ผ่านมาการก่อสร้างติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ส่งผลให้การเปิดให้บริการล่าช้าออกไป
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เบื้องต้นจะมีการประชุมคณะกรรมการ เตรียมการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
ทั้งนี้ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) ความก้าวหน้างานโยธา 93.85% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 94.12% ความก้าวหน้าโดยรวม 94.00% เบื้องต้นมีแผนจะเปิดทดลองให้บริการ สำหรับเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ขอเข้ารับการทดลอง (Control Group Public Trial Run) ตั้งแต่สถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ระยะเวลา 1 เดือนและเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคม 2566
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร (กม.) ความก้าวหน้างานโยธา 97.73% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 97.72% ความก้าวหน้าโดยรวม 97.73% จะเปิดให้ทดลองให้บริการ สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่ขอเข้ารับการทดลอง(Control Group Public Trial Run) ตลอดทั้งสาย ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ระยะเวลา 1 เดือน และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมิถุนายน 2566
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ปี 2559 เริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 42 บาท โดยจะมีการปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (Non-Food & Beverages) ของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารดังกล่าว อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของ CPI ซึ่งก่อนเปิดให้บริการจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค 3 เดือน ก่อนวันที่เริ่มให้บริการที่ก่อให้เกิดรายได้ในการปรับอัตราดังกล่าวโดยเมื่อใช้ CPI ปัจจุบันที่ประกาศ คาดว่าจะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะปรับใช้อัตราค่าโดยสารตาม CPI ในเดือนมีนาคม 2566 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะปรับใช้อัตราค่าโดยสารตาม CPI ในเดือนพฤษภาคม 2566
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ค่าแรกเข้าของโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย จะใช้ค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิงในอัตราเริ่มต้นเป็นค่าแรกเข้าระบบ หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยระบบที่ผู้โดยสารขึ้นก่อนเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า
“กรณีที่ผู้ใช้บริการมีการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาเชื่อมต่อที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 14 บาท เพียงครั้งเดียวให้กับผู้ที่ได้รับสัมปทานเดินรถของสายสีม่วง หากมีการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาทให้กับผู้รับสัมปทานเดินรถของสายสีชมพู”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ขณะที่การเก็บค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันยังติดปัญหาการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มีเจ้าของโครงการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งไม่ใช่รถไฟฟ้าที่อยู่ในโครงข่ายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบื้องต้นจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาเห็นชอบการเก็บค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายดังกล่าวที่เชื่อมต่อระหว่างกันเพียงครั้งเดียว ภายในเร็วๆนี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความล่าช้ากว่าแผนหลายปี เนื่องจากติดปัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเข้าพื้นที่ของแรงงานก่อสร้างล่าช้า
“ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแผนเปิดทดลองให้ประชาชนนั่งฟรี ระยะเวลา 3 เดือน เพราะอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไม่ได้มีการเปิดให้ทดลองนั่งฟรีเหมือนกัน แต่จะมีการเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริง (Trial run) เบื้องต้นบริษัทต้องดูความพร้อมการก่อสร้างในโครงการฯก่อนว่าสามารถเปิดช่วงใดได้บ้าง”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านการประชุมการเตรียมความพร้อมทั้ง 2 โครงการฯในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ตามปกติบริษัทจะมีการเข้าร่วมประชุมด้วย เบื้องต้นคาดว่าในที่ประชุมจะให้บริษัทอัพเดทความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ส่วนอัตราค่าโดยสารจะต้องรอรฟม.พิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ก่อนถึงวันที่เปิดให้บริการประมาณ 3 เดือน ตามสัญญาร่วมลงทุน โดยค่าแรกเข้าทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 15-16 บาท ขึ้นอยู่กับการประเมินจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ด้วย ส่วนการเก็บค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่ไม่ใช่ของรฟม.คาดว่าทางรฟม.จะมีการนัดหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อลดปัญหาการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน