ขณะที่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นวาระแห่งชาติของไทยที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยกันขับเคลื่อนให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังการประชุม APEC ได้สิ้นสุดลงได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวและการรับรู้เรื่อง BCG ในวงกว้างไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งหอการค้าฯ ได้พยายามสื่อสารว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่วาระของชาติ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน
หลังจากนี้การสื่อสารและโปรโมทแนวคิด BCG ที่ประชาชนสามารถเข้าใจง่าย เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทุกภาคส่วนคงไม่อยากเห็นการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในลักษณะ “ไฟไหม้ฟาง”
ดังนั้นต้องช่วยกันสื่อสาร และขับเคลื่อนต่ออย่างจริงจัง เพราะ BCG คือเรื่องใกล้ตัวที่สามารถปรับใช้ได้ เช่น ภาคการเกษตร การนำพันธุ์ข้าวต่าง ๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพสูง ขายได้ราคาดีในตลาดโลก ตัวอย่าง ข้าวไรซ์เบอรี่ หรือ การนำเอาสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรมาผลิตสเปรย์ฉีดพ่นในปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ภาคการท่องเที่ยว สามารถยกระดับสู่ BCG Tourism ในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่สามารถชูเรื่องอาหารที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ และความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค
หรือแม้แต่ภาคบริการ ที่สามารถตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติก การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล การจัดการอาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร เป็นต้น
สำหรับเรื่อง BCG หอการค้าไทยได้เริ่มนำร่องจัดตั้งสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย โดยหอการค้าฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะช่วยกันสร้างความเข้าใจว่า BCG ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ หรือในอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจถึงเรื่องความยั่งยืน(Sustainability) เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรการและข้อกำหนดด้านการค้ากับประเทศต่างๆ
รวมถึง FTA ฉบับใหม่ ๆ ในประเด็น Non-Tariff Barriers (NTBs) จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับแนวคิด BCG ของไทย และเป็นการยกระดับแนวทางการค้ายุคใหม่ภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“ในการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งล่าสุด ที่จังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าฯ ได้ชูประเด็นการเดินหน้าสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการขับเคลื่อน BCG และ ESG อย่างจริงจัง โดยเรื่อง BCG ได้ถูกบรรจุเป็นข้อเสนอในสมุดปกขาว เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลด้วย”
อย่างไรก็ดีในการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจ BCG ในหลายด้านทั้งด้านซัพพลายเชน เทคโนโลยีสมัยใหม่ การ Reskill– Upskill แรงงานให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ต้องยอมรับว่ามีค่าใช้จ่าย และต้องประเมินว่าการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้จะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายหรือไม่
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับการโปรโมทแนวทาง BCG คือ การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดภาคธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างชาติที่กำลังมองโอกาสจาก BCG เพื่อให้ตัดสินใจมาลงทุนในไทย
เรื่องนี้หอการค้าฯ ได้มีการหารือเบื้องต้นกับบีโอไอไว้บ้างแล้ว ทั้งสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตที่ขณะนี้บางประเทศเริ่มมีเงื่อนไขในเรื่องการลดคาร์บอน หากธุรกิจไทยสามารถทำได้ตามข้อกำหนด จะช่วยให้เกิดการแข่งขันได้ในอนาคต
นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัว และใช้ Model BCG ดำเนินกิจการอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ SMEs หรือสตาร์ทอัพ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การสร้างมาตรฐานสินค้าและบริการที่บ่งบอกว่าได้รับการรับรองตามแนวทาง BCG ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น