โดยมี 2 เรื่องใหญ่ ที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุม ที่ผู้นำได้ให้การรับรองและออกเป็นปฏิญญาคือ การขับเคลื่อน เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok goals on BCG Economy) ที่นำเสนอโดยประเทศไทย
ทั้งนี้ทุกเขตเศรษฐกิจเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-เศรษฐกิจชีวภาพ, Circular-เศรษฐกิจหมุนเวียน, Green-เศรษฐกิจสีเขียว) จะสร้างการเติบโตของประเทศ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้ และอีกไฮไลท์ คือ จะเดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้เป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันในส่วนของการประชุมเอเปคภาคเอกชน(APEC CEO Summit 2022) คู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ได้นำเสนอ 3 เรื่องเร่งด่วนให้ผู้นำเอเปคช่วยกันเร่งแก้ไข ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ของโลกได้แก่ 1. ปัญหาเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งงเป็นผลจากความขัดแย้ง และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาพลังงาน ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กระทบต้นทุนผู้ประกอบการ
2. ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ที่หลายสิบประเทศเวลานี้เกิดการขาดแคลนอาหาร และ 3. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้หลังการประชุมเอเปค 2022 ประเทศไทยปิดฉากลง และส่งให้สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2023 รับไม้ต่อ ในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมีความคาดหวังอย่างไรจากบทสรุปเอเปค 2022 อย่างไร และจะทำอะไรนับจากนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(ABAC) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” คำต่อคำดังนี้
ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะติดตามผล หรือสรุปผลเพราะเพิ่งเสนอไป ซึ่งสิ่งที่ ABAC ได้นำเสนอผู้นำเอเปคไปมี 2 มิติ มิติที่ 1 คือ 3 เรื่องเร่งด่วน และมิติที่ 2 เป็น 5 หัวข้อหลัก และ 69 ข้อย่อยที่คณะทำงานของ ABAC ได้มีการประชุม 4 รอบใน 4 ประเทศ (สิงคโปร์ แคนาดา เวียดนาม ไทย) โดยข้อเสนอหลัก 5 ข้อ ได้แก่
1. การรวมในภูมิภาคเพื่อการเปิดประเทศที่ควรอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคต่าง ๆ การจัดทำข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA ระหว่างสมาชิกเอเปก (FTAAP) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจ
2. การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่ผู้นำแต่ละประเทศควรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ทั่วถึง และมีความใกล้เคียงกัน
3. ความยั่งยืน (Sustainable) ต้องร่วมกันสร้างความสมดุลระบบเศรษฐกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน
4. MSMEs หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 97% ของภาคธุรกิจที่ต้องเร่งดูแลจากผลกระทบโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัว และ 5.ด้านเศรษฐกิจ และการเงิน (Finance and Economics)ที่ผู้นำเอเปกต้องเร่งพัฒนาให้รวดเร็ว เพื่อให้ทุกส่วนได้เข้าถึงแหล่งเงิน
“ใน 3 เรื่องเร่งด่วน ที่เราอยากหวังผลคือ การแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ อันเนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผู้นำเขตเศราฐกิจที่มาประชุมก็มีคู่ขัดแย้งอยู่ในนี้ ถ้าเขาสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ คือการเจรจาสันติภาพต่อกันมันก็จบ อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้"
ส่วนข้อเสนอหลัก 5 ข้อ มีบางข้อที่ทำได้เลย เช่น การช่วยเหลือ MSMEs หรือผู้ประกอบการรายเล็ก รายจิ๋ว รายกลาง ซึ่งจริง ๆ ทุกเขตเศรษฐกิจช่วยได้ จากเวลานี้ทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศ แต่ความช่วยเหลือก็ยังมาแบบไม่ทั่วถึง คนที่จะฟื้นกลับมายังไม่มีแรง ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นต้องมีมาตรการ ต้องมีเงินทุน และมีการออกแบบความช่วยเหลือยิงให้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้มีความแม่นยำ และชัดเจน
อย่างไรก็ดีบางเรื่องอาจทำได้ช้า อย่างเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่เป็นพื้นฐานของแต่ละประเทศที่ต้องลงทุนมากเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันและเพื่อจะได้เชื่อมต่อกันได้ แต่ละประเทศไม่ใช่ลงทุนแป๊บเดียว แต่ต้องไปตั้งงบ ต้องไปทำอะไร อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ทั้งหมดคือข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการเห็นการผลักดันจากผู้นำ
การที่ไทยใช้เศรษฐกิจ BCG เป็นหัวข้อ (Theme) ในการจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงศักยภาพ และความพร้อมของไทย ในการเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยมีความเข้มแข็ง และแข็งแกร่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
โดยครั้งนี้ทำให้ผู้นำ และนักธุรกิจที่เขาเดินทางเข้ามาด้วย ได้เห็นแล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วน 20% ซึ่งสูงที่สุดแล้ว ในประเทศอื่นไม่มี คือเราผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากสุด ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ยังอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น
จากความเป็นผู้นำ ความมีศักยภาพ และความชัดเจนเหล่านี้ จะส่งผลให้มีเม็ดเงินใหม่ ๆ จากโครงสร้างที่จะลงทุนใหม่ ของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตจะถูกเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยอย่างมาก
“เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว เรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน เรื่องเกี่ยวกับ BCG จะเลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นและมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นผลดีที่จะทำให้เม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอีอีซี และในพื้นที่ต่าง ๆ ในหมวดอุตสาหกรรมข้างต้นอีกมูลค่ามหาศาลในปีหน้า สะท้อนได้จากเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย กำลังแย่งชิงกันเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ในเวลานี้”
สิ่งที่จะตามมาคือ จะช่วยในเรื่องการส่งออก เพราะสินค้าจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม ตอนนี้มีปัญหามากในการส่งออก จากถูกกีดกันทางการค้า และจากที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่เป็นอุปสรรค แต่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่มีอุปสรรค เพราะจะสอดคล้องกับทิศทางใหม่ของโลก เพราะฉะนั้นการส่งออกของเราในอนาคตจะดีขึ้น จากจะไม่อ่อนไหวเหมือนกับสินค้าจากอุตสาหกรรมเดิม ๆ
นอกจากนี้ด้านซอฟต์ พาวเวอร์ จากเรื่องการท่องเที่ยวจะแรงมากขึ้น เพราะจะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพ จากการเปลี่ยนมุมมอง เมื่อก่อนเน้นเชิงปริมาณ เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ อะไรต่าง ๆ จากนี้ไปจะเป็นเรื่องคุณภาพละ และจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นเรื่องของ Health & Wellness นักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนกลุ่ม และจะมาใช้เงินมากขึ้น และจะมาอยู่นานขึ้น และผลที่ตามมาคือ ซอฟต์ พาวเวอร์ทางด้านอาหาร
ที่ผ่านมาที่เราทำและผลักดันอยู่แล้ว คือโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry : SAI) ตอนนี้เราก็ทำต่อเนื่อง ซึ่งซีอีโอที่มาประชุมเอเปคที่กรุงเทพสนใจอยากมาดู ถามว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ จะส่งทีมบินเข้ามาดู และจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
“ SAI เป็นโปรเจ็กต์นำร่อง และเป็นต้นแบบที่เราทำมาก่อนแล้ว และจะขยายไปทั่วประเทศในทุก ในการประชุมเอเปคครั้งนี้เราได้ขายไอเดีย และเล่าให้ผู้นำ และผู้นำทางด้านธุรกิจที่มาประชุมต่างสนใจมาก ก็อยากจะมาดู ถามว่าโครงการจะเสร็จเมื่อไหร่จะเข้ามาดูกัน”
รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว โดยโครงการนำร่องของสภาอุตสาหกรรมฯที่ได้ประกาศไปแล้ว คือโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agricultural Industry : SAI ) โดยจะผลักดัน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด โดยใช้เรื่องของ BCG ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นตัวนำ ตามศัยภาพของพื้นที่ และตามศักยภาพของพืชผลทางการเกษตรที่จับคู่ร่วมกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป และเพิ่มมูลค่า
เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยารักษาโรค อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมไบโอที่เป็นเส้นใยเพื่อนำไปทอผ้า ไบโอเคมีคัล ไบโอเฟอร์ติไลเซอร์ที่เป็นปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์(Plant Based)
เรื่องเงินลงทุน เรื่องผังเมือง เรื่องกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องเอื้อ ต้องปรับปรุงให้ทันสมัย เพราะตอนนี้ติดปัญหาเรื่องผังเมือง เพราะพื้นที่เพาะปลูกเป็นพื้นที่สีเขียว แต่เอาโรงงานไปตั้งไม่ได้ ก็ต้องฝากภาครัฐให้แก้ไขกฎหมายเหล่านี้
ต้องมีกองทุนสนับสนุนให้คนเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องจักรอะไรต่าง ๆ โครงการต้องมีเงินช่วย ต้องมีเงินสนับสนุน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
คือมีโอกาส เพราะเจรจามา 20 กว่าปีแล้ว เรื่อง FTAAP นี้ อยากจะเรียกร้องให้ทุกคนกลับมาเจรจากัน มาเจรจาสันติภาพร่วมกัน เพื่อที่จะฟื้นเศรษฐกิจร่วมกัน และลดความขัดแย้ง