ส่องแผนหอการค้าไทย ดันสมาชิกแสนราย เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ BCG

15 ธ.ค. 2565 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 20:08 น.

หอการค้าไทยเดินแผน จี้รัฐหนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีรายใหญ่ ช่วยแหล่งเงิน เทคโนโลยีรายกลาง หา “ซัคเซส เคส” เป็นแรงบันดาลใจรายย่อยเดินตาม พร้อมเร่งความร่วมมือกับแบงก์ชาติ เอ็กซิมแบงก์ ธนาคารพาณิชย์หนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs ช่วยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ BCG

จากรัฐบาลได้ประกาศให้เศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต  ขณะที่ในการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok goals on BCG Economy) โดยเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโต และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  จากผลพวงการประชุม APEC ที่สิ้นสุดลงไปได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวและการรับรู้เรื่อง BCG ในวงกว้างไปสู่ภาคประชาชน  ซึ่งหอการค้าไทย ได้พยายามสื่อสารไปยังสมาชิกกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่วาระของชาติ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

อย่างไรก็ดีในเรื่องสภาพคล่องของภาคธุรกิจเพื่อปรับตัวสู่เศรษฐกิจ BCG เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็น หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ BCG หรือ ธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ต้องวางแผนและมีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งภาคธุรกิจพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว หอการค้าฯ มองว่ารัฐบาลสามารถสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของภาคธุรกิจที่แตกต่างออกไปได้เช่น

 

1.ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว กลุ่มนี้คงต้องเข้าไปช่วยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG

 

2.ภาคธุรกิจขนาดกลาง ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในแง่แหล่งเงินทุน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจแบบเดินสู่แนวทางที่คำนึงถึง BCG รวมถึงกองทุน หรือ แหล่งเงินทุน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

และ 3.ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ทั้ง SME และ Micro SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากสุดของประเทศที่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ และหากรณีความสำเร็จ (Success Case) ที่จะเป็นโมเดลต้นแบบให้เดินตามได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนที่รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน เพราะถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้มแข็งและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆให้สอดคล้องกับ BCG Model

 

“หอการค้าไทย ได้มีการหารือเบื้องต้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย เอ็กซิมแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ ถึงความร่วมมือในอนาคตอันใกล้ที่จะออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs ที่ต้องการนำไปปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเข้าสู่ BCG Model ด้วย” นายสนั่น กล่าว