นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานผลการศึกษามายังกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างทบทวนเปรียบเทียบต้นทุนค่าก่อสร้างและการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวกับการลงทุนในโครงการคล้ายคลึงกันของต่างประเทศ เพื่อทำให้การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่า มีราคาสมเหตุสมผล และได้รับผลตอบแทนสูงสุด
“ตอนนี้เรากำลังรีเช็คต้นทุนต่างๆ เปรียบเทียบกับการลงทุนในโครงการอื่นๆ ของต่างประเทศ เช่น ท่าเรือในสิงคโปร์ โครงการลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลี ดูไบ สเปน ทุกโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เรือ และทางบก เพื่อเปรียบเทียบคอสที่เกิดขึ้น ให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปอธิบายประกอบการเสนอโครงการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดภายในปีนี้ จะมีการเสนอขออนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ โดยหากได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว กระทรวงฯ มีเป้าหมายในปี 2566 จะนำข้อมูลโครงการ กรอบการลงทุนแลนด์บริดจ์ไปจัดแสดง (โรดโชว์) ต่างประเทศ ในลักษณะของการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) เพื่อทดสอบความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ และขอความเห็นในสิ่งที่นักลงทุนต้องการ”
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายเปิดให้เอกชนมาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งการจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเมื่อเปิดให้บริการแล้วมีความคุ้มค่า มีความต้องการการใช้งานทันที ต้องหาพันธมิตรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์สายการเดินเรือ เพราะจะสามารถหาลูกค้ามาใช้บริการได้ และเพื่อให้โครงการนี้พัฒนามาแล้วไม่สะดุด เอกชนต้องมีสินเชื่อ (ไฟแนนซ์) สนับสนุนด้วย
สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงฯ ต้องการพัฒนารองรับต่อปริมาณการเดินเรือที่เกิดขีดความสามารถบริเวณช่องแคบมะละกา เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นตามแผน สนข.จะแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 คาดปริมาณสินค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ทั้งนี้จากผลการศึกษาของ สนข. ประเมินว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 453,063 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 485,544 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ระนอง - ชุมพร 126,860 ล้านบาท รถไฟทางคู่ระนอง - ชุมพร 105,924 ล้านบาท และท่อส่งน้ำมัน 22,916 ล้านบาท