วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เมื่อเวลา 17.30 น. นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดเสวนา โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดล การพัฒนาการลงทุน (Business Development Mode) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) ภายใต้หัวข้อ “แลนด์บริดจ์ระนอง โอกาสและความท้าทาย” จัดโดยหอการค้าจังหวัดระนอง ณ ห้องราชาวดี เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดระนอง โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน ในพื้นที่เข้าร่วม
การจัดงานครั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบข้อมูลการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดระนองในอนาคต รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาในภาพรวมของจังหวัดระนองต่อไป
จากกรณีที่กระทรวงคมนาคม เคาะ“อ่าวอ่าง” ระนอง เป็นท่าเรือใหม่เชื่อม “แลนด์บริดส์” โดยเมื่อ 22 เม.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ได้ระบุว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุด ฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว
เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้า ที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์ รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคต ให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง (MR8 ชุมพร – ระนอง)
โดยผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่า จะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ซึ่งหลังจากนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน กับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้ สนข. และที่ปรึกษา ศึกษาปริมาณสินค้าและแผนทางการพัฒนาความสามารถในการรองรับสินค้าของโครงการแลนด์บริดจ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการมีความน่าสนใจ และสามารถแข่งขันกับโครงการการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่าง ๆ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) และโครงการมะละกาเกตเวย์ ในประเทศมาเลเซีย และโครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา
รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี
รวมถึงให้พิจารณาข้อกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น การตรา พ.ร.บ. ฉบับใหม่สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยการขยายพื้นที่โครงการ และพิจารณาข้อจำกัดและแนวทางการดำเนินการของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับกรณีโครงการที่มีเจ้าของโครงการหลายหน่วยงาน เป็นต้น
และได้เร่งรัดให้ สนข. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียด เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) พร้อมเตรียมโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งในระดับพื้นที่โครงการ และการประชาสัมพันธ์ไปสู่นักลงทุนต่างประเทศในช่องทางต่าง ๆ