รถไฟฟ้าขึ้นราคากี่บาทกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เนื่องจากเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคที่ได้รับความนิยม เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยความสะดวกรวดเร็ว และมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดรายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จะมีการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 สูงสุด 42 บาท ปรับเป็นค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท
ซึ่งเป็นการปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยตามสัญญาสัมปทาน อัตราค่าโดยสารใหม่ ผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาแล้ว
แต่เนื่องจาก กระทรวงคมนาคม ได้หารือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะค่าครองชีพสูง จึงยังคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาเดิม ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565
ทั้งนี้ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีทั้งสิ้น 38 สถานี โดยช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ มี 18 สถานี ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีสถานี 11 สถานี และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มี 9 สถานี
ขณะที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส (BTS) ได้มีการออกประกาศ เรื่องปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร จำนวน 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน
รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16-44 บาท ปรับเป็น 17-47 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
บีทีเอส ใช้สิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทฯ สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุกๆ 18 เดือน โดยตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 23 ปี มีการปรับราคา 3 ครั้ง โดยการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ปรับจาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท จนถึงปัจจุบัน