ตะลึง กองสลากพลัสรายได้ 1.8 หมื่นล้าน แต่กำไรแค่ 2.22%

01 ม.ค. 2566 | 05:39 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2566 | 12:55 น.

ชำแหละผลประกอบการกองสลากพลัส ตะลึง รายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่กำไรแค่ 2.22% นายกฯสั่ง ปปง. DSI สรรพากรสอบเส้นทางการเงิน-ภาษี

“ฐานเศรษฐกิจ” เกาะติดกรณีการดำเนินธุรกิจของ “กองสลากพลัส” มาอย่างต่อเนื่อง หลังจาก “นอท” พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO บริษัท ลอตเตอรี่ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งขายลอตเตอรี่ออนไลน์กองสลากพลัสระบุว่า ปี 2565 นี้ บริษัทมียอดขาย 18,000 ล้านบาท จนทำให้กรมสรรพากร เตรียมลุยตรวจสอบภาษี

 

ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เรียกผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามาหารือถึงเรื่องการทำธุรกิจของกองสลากพลัสเป็นการด่วน โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบภาษี หลังจากนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ออกมาระบุว่า มียอดขายปีนี้สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท

 

“นายกฯ ได้ขอให้ผู้บริหารสำนักงานสลากฯ ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางเงินว่ามายังไง ทำธุรกิจแบบไหน มีอะไรที่เกี่ยวข้อง”

นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO กองสลากพลัส หรือ “นอท กองสลากพลัส” ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของกองสลากพลัส ผ่าน บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัดว่า ผลประกอบการในปี 2565 คาดว่า มีรายได้ 18,000 ล้านบาทและคาดว่า จะมีกำไร 400 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิประมาณ 9 ล้านบาท

 

ในมุมมองของนักบัญชีเห็นว่า การดำเนินธุรกิจของกองสลากพลัสในปี 2565 มีรายจ่ายสูงถึง 17,600 ล้านบาท หรือ 98.89% ของรายได้ ขณะที่อัตราการกำไรสุทธิ Net Profit Margin(NPM) ของกองสลากพลัสอยู่ที่ 2.22% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับการประกอบธุรกิจโดยทั่วไปที่การตั้งราคาสินค้าในการดำเนินธุรกิจ ควรมีกำไรขั้นต่ำ 20%

 

บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัดเป็นบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 2 ปี ทุนจดทะเบียนมีจำนวน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 119,053,375 บาท หนี้สินรวม 104,821,444 บาท ส่วนผู้ถือหุ้นมีจำนวน 4 ราย รวม 50,000 หุ้น แยกเป็น บริษัท เซเว่นไอเดีย จำกัด ถือหุ้นสูงสุด 47,000 หุ้น รองลงมาคือ นายจตุภัทร บุญสุวรรณ์ ถือหุ้น 1,500 หุ้น นายชัชวงศ์ ธรรมราภา ถือหุ้น 1,000 หุ้น และ นายศุภชัย ทิพย์สิทธิ์ ถือหุ้น 500 หุ้น

 

 เมื่อย้อนกลับไปดูงบการเงินของบริษัท 2564 พบว่า มีรายได้รวม 1,193 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,181 ล้านบาท เมื่อหักภาษีเงินได้ 2,440,731 บาท ทำให้มีกำไร 9,369,116 บาทเท่านั้น สะท้อนว่า Cost Structure หรือ โครงสร้างของค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการดำเนินการ ของกองสลากพลัสสูงมาก จึงมีคำถามตามมาว่า งบการเงินที่บริษัทแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาฺณิชย์นั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

 

นายพันธ์ธวัชชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการจ่ายภาษีว่า ในปี 2564 ได้ชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว 2 ล้านกว่าบาท รายได้หมดใช้ไปกับการพัฒนา จึงเหลือกำไรน้อยมาก ซึ่งทางกรมสรรพากรได้เรียกเข้าไปชี้แจงกรณีการจ่ายภาษีปี 2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทจะนำเอกสารเข้าชี้แจงอีกครั้ง ในวันที่ 16 มกราคม 2566 พร้อมย้ำว่า ตั้งใจดำเนินธุรกิจโดยไม่มีการเลี่ยงภาษี

 

นายพันธ์ธวัช ยืนยันว่า เสียภาษีนิติบุคคลในปี 2564 ตามปกติ และได้ดำเนินการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ย้อนหลังจำนวน 159 ล้านบาท จากนั้น ได้มีการเสีย VAT ประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากมีความชัดเจนจากศาลว่า การขายลอตเตอรี่ออนไลน์ สามารถจัดเก็บค่าบริการได้ไม่ถือเป็นการจำหน่ายลอตเตอรี่เกินราคา

 

ขณะที่ในครึ่งปีแรกของปีนี้กองสลากพลัสได้ชำระภาษีไปแล้ว 9 ล้านบาทคาดว่า สิ้นปีจะมีกำไรสุทธิกว่า 200 ล้านบาท จากรายได้ 18,000 ล้านบาท และเตรียมจ่ายภาษี ประมาณ 80-90 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องรอดูปิดงบสิ้นปีอีกครั้ง

 

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรมองว่า การที่กองสลากพลัสระบุว่าในปี 2565 มียอดขาย 18,000 ล้านบาทนั้น ตามหลักการการทำธุรกิจซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัทจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการอัตรา 7% ทุกเดือน และต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ อัตรา 20% ณ วันสิ้นรอบบัญชี ซึ่งกรมสรรพากรกำลังตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายภาษีอยู่.