จีนเปิดประเทศ ผลดี ศก.ไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดกำลังซื้อ

05 ม.ค. 2566 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 15:32 น.

ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร จีดีพีจะโตได้แค่ไหน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง

จากเวลานี้เกือบทุกสำนักพยากรณ์ทั้งในและต่างประเทศ ต่างฟันธงเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา จากเขตเศรษฐกิจใหญ่ของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย จากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ

 

ขณะที่จีนอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ได้ประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 ยังต้องลุ้นว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจแดนมังกรจะกลับมาขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด จะมีการนำเข้าสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ (จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ปี 2564 สัดส่วน 20% ไทยค้ากับโลก) นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเข้ามาเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1 มากกว่า 11 ล้านคน นำเงินเข้าไทยกว่า 5.3 แสนล้านบาทในปี 2562 ก่อนเกิดโควิดและยกให้ไทยเป็น Destination หรือปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ในปีนี้จะเข้ามาเที่ยวไทยมากน้อยเพียงใด และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ดีในมุมมองของสถาบันหลักภาคเอกชนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้พระเอกที่จะช่วยขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทย เครื่องยนต์หลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยคาดปีนี้ในเบื้องต้นจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 20 ล้านคน (ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีน) รวมถึงจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัว และจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI

 

จีนเปิดประเทศ ผลดี ศก.ไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดกำลังซื้อ

 

โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากโมเมนตัมของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC ของไทยในปีที่ผ่านมา ได้สร้างการรับรู้และจะช่วยดึงดูดการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular- Green) พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการสุขภาพ ที่เป็นทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของไทย ตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมของโลก

 

ทั้งนี้หอการค้าไทยคาดภายใน 3-5 ปีนับจากนี้ ไทยจะสามารถดึงเม็ดเงินการลงทุนในอุตสาหกรรมข้างต้น ทั้งจากจีน ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น อินเดีย และอื่นๆ ได้ไม่ตํ่ากว่า 6 แสนล้านบาท

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

ส่วนภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอตัวลงชัดเจน สัญญาณจากในเดือนตุลาคมต่อเนื่องเดือนพฤศจิกายน 2565 มูลค่าการส่งออกของไทย (สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ) ติดลบ -4.4%  และ -6% ตามลำดับตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.คาดการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 1-2% (จากปี 2565 คาดขยายตัวที่ 7.2%) และเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยต้องประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการทำตลาดส่งออกเชิงรุก เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัว ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV เป็นต้น

 

ขณะที่ในมุมมองของ นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยต้องเตรียมรับมือในปี 2566 ที่สำคัญ เช่น ภาะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่อยู่ระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่สูงมากถึง 88.2% หรือมีมูลค่ากว่า 14.72 ล้านล้านบาท ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

รวมถึงประเด็นด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งในปีนี้ จะเป็นปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยเฉพาะนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา บริหารประเทศจะส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจ รวมทั้งจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาชี้ให้เห็นถึงโอกาสของประเทศไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกและก้าวย่างในปีเถาะ 2566 ที่ต้องติดตามกันยาว ๆ ตลอดทั้งปีนี้ต่อไป