ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) หรือ ไฮสปีดไทย-จีน งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ติดปัญหาเรื่องผลการประกาศประกวดราคาในสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทนเอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ฟ้องว่า รฟท.กับพวกรวม 3 คน ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ทั้งนี้กรมบัญชีกลาง มีคำสั่งอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้แก่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เป็นการเฉพาะราย นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางมีคำวินิจฉัยว่า การอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงาน ฟังขึ้น โดยสั่งให้รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันบริษัทไชน่า เรลเวย์ จึงมีหนังสือโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า ได้รับความเสียหาย
ล่าสุด รายงานข่าวจากศาลปกครอง ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนมีคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก รวมทั้งมีคำสั่งให้การทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนสิ้นผลบังคับนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
สำหรับคำพิพากษายืนของศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า การที่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นบริษัทดังกล่าว จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัท โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของบริษัทได้ และเมื่อมีการยื่นข้อเสนอราคาโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัทบิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด (ผู้ถือหุ้น) โดยไม่ได้ยื่นผลงานก่อสร้างที่ทำในนามบริษัท จึงไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ แม้ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ประสงค์จะเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ แต่เมื่อบริษัทมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ถือหุ้นจึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกของกิจการร่วมค้า เมื่อประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้สมาชิกของกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ทุกรายต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง การที่บริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง จึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่
นอกจากนี้การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน วินิจฉัยอุทธรณ์โดยอนุมัติยกเว้นให้บริษัทดังกล่าวเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา และให้รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 อุทธรณ์ของ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน และบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด จึงฟังไม่ขึ้น