“เราใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปีมาแล้วแต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งในลักษณะนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม” นี้คือคำกล่าวของนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังหารือทวิภาคีกับ นายวัลดิส โดมโบรฟสกิสรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรปในช่วงเย็นวันที่ 25 มกราคม 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ที่ Le Berlaymont กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปเกือบ10 ปี จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ภาวะการเงินโลก
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อกดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยภายในของไทยเองที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ความสำเร็จในการตั้งโต๊ะเจรจารอบนี้น่าจะเริ่มเห็นโอกาสในการค้ามากขึ้นกับ27ประเทศ
โดยเมื่อช่วงกลางปี 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียู ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว ผลการศึกษาประเมินว่า หากไทยและอียู (27 ประเทศ) ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมดแล้ว จะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี
การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% (2.16 แสนล้านบาท) ต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% (2.09 แสนล้านบาท) ต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น
นอกจากนี้ การเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% (8.01 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ จากการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%
แต่ก็มีผลการศึกษายังพบประเด็นท้าทายสำคัญของ FTA ที่อียูทำกับประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทาง UPOV 1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อ SMEs มากนัก เนื่องจากโครงการที่ SMEs เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล
“โอกาสของไทยจากความตกลงไทย-สหภาพยุโรป จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดสหภาพยุโรปที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก”
โดยปัจจุบันที่สหภาพยุโรปมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต
ประโยชน์อันดับแรกของความตกลง FTA ฉบับนี้ คือ การลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ที่ปัจจุบันไม่มีแต้มต่อทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งบางประเทศ เช่น เวียดนาม หลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อปี 2558 นอกจากนี้ จะช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยหากการเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจากประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับไทยและมี FTA กับสหภาพยุโรป เช่น เวียดนาม
รวมไปถึงการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ know-how ต่าง ๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทสหภาพยุโรปในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็น แม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมที่มีความเสี่ยงจะย้ายการลงทุนไปที่อื่น และดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างสหภาพยุโรปได้อีกด้วย
ข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียู ปี 2565 มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าที่ไทยค้ากับสหภาพยุโรป ประมาณ 7% ของการค้ากับโลก ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ และไทยส่งออกไปอียูปี 2565 คิดเป็น 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (843,378 ล้านบาท)เพิ่มขึ้น 5.17%
สินค้าที่ไทยส่งออกไปอียูส่วนใหญ่ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่นำเข้าจากอียูสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยาเป็นต้น
ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศคือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ถ้าประสบความสำเร็จ และไทยจะมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อสำหรับประเทศไทยต่อไปในอนาคต