หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน และมีความเห็นสอดคล้องกันในการกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2566 ว่าจะขยายตัว 1-2% น้อยกว่าปี 2565 ที่ตั้งไว้ 4% เพราะมีปัจจัยที่เป็นแรงเสียดทานทางลบหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มแค่ 0.5-1.0% สหภาพยุโรป เพิ่ม 0-0.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.6% ซึ่งเมื่อขยายตัวน้อย ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
มีการคาดการณ์ว่าสต๊อกสินค้าในไตรมาสแรกปี 2566 จะยังคงมีสูง ทำให้หลายประเทศชะลอการสั่งซื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ไตรมาสแรกส่งออกไทยติดลบ3.7% ในขณะที ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง เพราะแพงกว่าคู่แข่ง
สำหรับปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกมีอยู่บ้าง เช่น การขนส่งสินค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ความต้องการด้านอาหารของโลกยังมี ซึ่งเป็นผลดีกับการส่งออกอาหารของไทย ตลาดศักยภาพบางตลาด ยังรองรับการส่งออกของไทยได้ และปีนี้ไทยจะเน้นไปที่4 จาก10ตลาดที่ขยายตัวดีในปีที่ผ่านมาเป็นพิเศษ อย่าง ตะวันออกกลาง คาดว่าจะบวกได้ 20% เอเชียใต้ คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ คาดเพิ่ม 10% ตลาด CLMV คาดเพิ่ม 15% และจีน ที่เป็นตลาดใหญ่และกำลังเปิดประเทศ คาดจะทำตัวเลขบวกได้
อย่างไรก็ตาม ปี2565 สินค้าส่งออกไทยที่ขยายตัวได้ดี 10 รายการ ได้แก่ 1.น้ำตาลทราย 2.เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 6.อุปกรณ์กึ่งตัวนํา ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 7.ไก่แปรรูป 8.ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง 9.ไอศกรีม 10.อาหารสัตว์เลี้ยง และคาดว่าสินค้าในกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่จะเป็นพระเอกของการส่งออกปีนี้
ทั้งนี้ตลาดที่ขยายตัวดีในปี65และคาดว่าปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากกำลังซื้อที่กำลังฟื้นตัว ยังคงเป็น1.ตะวันออกกลาง 2.สหราชอาณาจักร 3.แคนาดา 4.สหรัฐฯ 5.CLMV 6.เอเชียใต้ 7.อาเซียน (5) 8.ลาตินอเมริกา 9.สหภาพยุโรป และ 10.ทวีปออสเตรเลีย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เชื่อว่าการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเปิดตลาดและเจาะตลาด เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV จะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกมาเติมในส่วนที่ขาดหายไปได้ และปีนี้ ปัญหาเรื่องขาดแคลนชิป ก็คลี่คลายลงแล้ว ส่วนปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังต้องติตตามใกล้ชิดต่อ แต่คงไม่มีผลต่อราคาพลังงานมากนัก เพราะผ่านจุดพีคไปแล้ว ส่วนค่าเงินบาท ยอมรับว่าแข็งค่าเร็ว แค่ 2-3 เดือนแข็งขึ้นมาเกือบ 20% แล้วแต่เชื่อว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น