นับจากจุดเริ่มต้นที่ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมแก้ไขปัญหาน้ำอย่างจริงจัง โดยการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) รวมถึงคนในชุมชน โดยคิกออฟโครงการแรกที่ชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่
ด้วยเป้าหมายการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และลดปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชน ตั้งแต่ปี 2561 จนปัจจุบันผ่านมากว่า 4 ปี ความสำเร็จได้ปรากฎอย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ
“อรัญญา ลือประดิษฐ์” รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่าโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ดูแลแก้ปัญหาแหล่งน้ำธรรมชาติใน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ซึ่งไม่มีเขื่อนใหญ่ๆ ที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย และพิจิตร ลุ่มน้ำปราจีน ที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ลุ่มน้ำบางปะกง และล่าสุด ปี 2564 ได้เพิ่มลุ่มน้ำโขง ที่อุบลราชธานี รวมทั้งหมด 7 จังหวัด 4 หมื่นครัวเรือน โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ใช้งบสนับสนุนการดำเนินงานราว 100 ล้านบาท ตามแผนดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562-2566)
กลุ่มธุรกิจ TCP มีแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืน ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. การตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืน (Carbon neutrality) 2. การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และ 3. เรื่องการบริหารจัดการน้ำยั่งยืน ซึ่งดูแลทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน พร้อมตั้งเป้าคืนน้ำให้สู่ชุมชนไม่น้อยกว่าที่ใช้ไป โดยกลุ่ม TCP ใช้น้ำปีละ 3.5 ล้านลูกบาศก์ลิตร หรือมากกว่าที่ใช้ 3 เท่า ซึ่งปัจจุบันคืนไปได้แล้ว 15 ล้านลูกบาศก์ลิตร และดูแลกระบวนการผลิตไม้ให้ปล่อยน้ำเสียเลย (net water possitive) ภายในปี 2573 นอกจากนี้ TCP ยังขยายผลต่อยอดการบริหารจัดการน้ำไปยังโรงงานของกลุ่ม TCP ที่จีน และเวียดนามด้วย
ล่าสุด กลุ่มธุรกิจ TCP ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ ดูความสำเร็จและการต่อยอดขยายผลที่จังหวัดแพร่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ โดยเริ่มต้นที่ชุมชนแม่ขมิง ที่กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้ชุมชนแม่ขมิงไม่มีปัญหาน้ำท่วม และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างรายได้จากการทำปศุสัตว์และปลูกพืช นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านยังขยายโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการจัดกิจกรรม สรอยฟิชชิ่ง และจะจัดเดินเทรล ประมาณเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนต่อไป
ส่วนชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ซึ่งได้นำองค์ความรู้จากชุมชนแม่ขมิงมาทำ จน เกิดเป็นโรงเรียนศูนย์บริการจัดการน้ำ และได้ขยายเครือข่ายจากพื้นที่ มีการสร้างฝายชะลอน้ำ ชุดลอก ก่อสร้างรางส่งน้ำ ทำให้พื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง มีน้ำใช้ตลอดปี เช่นเดียวกับที่ชุมชนบ้านผักยิ้ม ที่มีการต่อยอดสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ ส่งต่อขยายเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำ และให้ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ออกไปอีก 8 อำเภอ
โมเดลความสำเร็จที่เกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจ TCP จะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป พร้อมกับคนในชุมชนที่ช่วยส่งต่อความรู้ และความสำเร็จที่เกิดขึ้น ให้กับชุมชนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566