จากสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก พบว่ามีค่าสูงขึ้น ซึ่งยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ซึ่งตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจรถควันดำ โดยได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ-ตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง
ส่งผลให้ รัฐเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ ล่าสุด นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร รวม 4หน่วยงาน เพิ่มความเข้มงวดโดย ใช้นโยบาย “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ”
นโยบาย “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ”ได้บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยตั้งจุดตรวจสอบ-ตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า-ออก จำนวน 20 จุดต่อวัน ทั้งนี้จากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่สูงขึ้น ต้องขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ เพื่อสุขภาพอนามัยของทุกคน
สำหรับผลการตรวจสอบ ควันดำรถทุกประเภท(รถบรรทุก รถรับจ้างประจำทาง รถรับจ้างไม่ประจำทาง) ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีรถที่ตรวจสอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 -27 มกราคม 2566 จำนวน 39,909 คัน เกินค่ามาตรฐานและพ่นห้ามใช้ 178 คันโดยแยกเป็น
1.รถบรรทุก 30,794 คัน พ่นห้ามใช้ 135 คัน
2.รถโดยสารประจำทาง 7,528 คัน พ่นห้ามใช้ 38 คัน
3.รถโดยสารไม่ประจำทาง 1,587 คัน พ่นห้ามใช้ 5 คัน
และผลการตรวจทั่วประเทศ ตรวจแล้ว 81,759 คัน เกินค่ามาตรฐานและพ่นห้ามใช้ 597 คัน (ค่ามาตรฐานความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30)
ทั้งนี้ผลกระทบ มลพิษทางอากาศ มีแหล่งกำเนิดหลักมาจาก
1.การจราจร
2.อุตสาหกรรม
3.การเผาในที่โล่ง
นอกจากนี้อาจประกอบกับการเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ทำให้เกิดมลพิศทางอากาศจนส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ทำให้สุขภาพแย่เมื่อฝุ่นเกินขนาด ได้แก่
1.ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ
2.ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้มีอาการไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก หายใจวี้ด หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก
3.ระบบการไหลเวียนเลือดและหัวใจ ทำให้ร่างกายต้องเพิ่มอัตราการหายใจ เนื่องจากแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการหัวใจวาย เป็นต้น
วิธีปฏิบัติตัว
1.ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังนอกอาคาร
2.บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน
3.หากหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคารไม่ได้ควรสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก
4.ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีไม่ปล่อยควันดำ
5.ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน
6.ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
7.หากเกิดความผิดปกติกับร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที