ใกล้แตะกำลังผลิตสูงสุด 3,060 เมกะวัตต์ กฟผ.ผันไฟภาคกลางเติมใต้ 1,600 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงไฟฟ้า
นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้า จังหวัด สงขลา กล่าวว่า เศรษฐกิจ สงขลาเวลานี้ ถือว่าฟื้นตัวน่าพอใจ ประเมินจากทุกภาคส่วนของหอการค้าจังหวัดสงลาดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์
“รวมถึงธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึก ตลอดจนธุรกิจไมซ์ก็ดีขึ้น หลังจาก เปิดเมืองมา เริ่มส่งผลดี ธุรกิจทุกตัวที่ประเมินก็ดีขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ โรงแรมในหาดใหญ่จะมีผู้เข้าพักเต็ม ร้านอาหารเต็ม ตลาดกิมหยงแน่น ตลาดเช้าข้างตลาดกิมหยงก็แน่น นักท่องเที่ยวมาเลเซียก็มากันเต็ม
การค้าการขายของสงขลากลับมาดีขึ้นมาก และคาดว่าจะมีผลดีตลอดปี 2566 เนื่องจากคนมาเลย์ยังเดินทางเข้าไทย มาท่องเที่ยวหาดใหญ่ สงขลา อยู่ จากจุดขายบ้านเราค่าใช้จ่ายไม่แพง เข้ามาจับจ่ายบ้านเราแล้วยังมีเงินเหลือ จะดึงดูดให้คนยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว
รวมถึงการมีรถไฟขบวนพิเศษจากกัวลาลัมเปอร์-สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ถือว่าสงขลา-หาดใหญ่เราโชคดีได้มาเลย์เป็นลูกค้าหลัก ทำให้ธุรกิจฟื้นเห็นชัด แม้ยอดขายจะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่เชื่อว่าจะกลับมาเท่าเดิมเร็วๆ นี้
ด้านนายวีระชัย เมืองพูล ผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้-2 ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้ไฟฟ้าของภาคใต้สูงสุดในปี 2565 อยู่ที่ 2,726 เมกะวัตต์ หลังจากปี 2563-64 เจอผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าภาคใต้ลดลง จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดย ในปี 2563 ลดลงเหลือ 2,650 เมกะวัตต์ และลงอีกในปี 2564 ลงมาเหลือ 2,430 เมกะวัตต์ และกลับมาปรับเพิ่มในปี 2565 อยู่ที่เฉลี่ย 2,540 เมกะวัตต์”
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว ที่กลับมาขยายตัวรวดเร็ว ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยในช่วงโควิดระบาดการใช้ไฟฟ้าลดลงจากภาคท่องเที่ยวที่หดหายไป ขณะที่ภาคอื่น อาทิ โรงงาน หรือครัวเรือน ยังใช้เป็นปกติหรือลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย
สำหรับจังหวัดที่มีการใช้ไฟสูงสุด คือ จังหวัดสงขลา ซึ่งเมื่อเทียบตัวเลขระหว่างปี 2562-2665 อาจปรับเพิ่มไม่มากนัก คล้ายคลึงกับของสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช แต่ที่เห็นชัดคือภูเก็ต ที่ตัวเลขช่วงปี 2562-2564 การใช้ไฟฟ้าลดลงไปค่อนข้างเยอะ พอมาในปี 2565 กลับมาปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นายวีระชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2565 และปี 2566 แผนการพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ในส่วนของกำลังการผลิตหลักๆ มีเท่าเดิม เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ มีแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาและกระบี่แต่ถูกคัดค้าน ต้องยกเลิกโครงการไป
โรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ที่เดินเครื่องอยู่ประมาณ 3,070 เมกะวัตต์ ถ้าเทียบกับการใช้สูงสุดที่ 2,726 เมกะวัตต์ ก็ถือว่าเข้าใกล้กำลังการผลิตสูงสุด ก็ต้องหากำลังการผลิตเพิ่ม ซึ่งมี 2 ทาง คือ ถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่ม ก็ต้องสร้างระบบส่ง คือรับไฟจากพื้นที่อื่นมาป้อน
“ในช่วง 3 ปีหลังได้มีการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลวัตต์ (KV) ที่เชื่อมโยงมาจากภาคกลาง เพื่อนำไฟมาจากภาคกลางเข้ามาเสริมในภาคใต้ โดยเวลานี้ที่สร้างเสร็จแล้วคือ จากบางสะพานถึงสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 วงจร จากแผน 4 วงจร และลากไปช่วยที่ภูเก็ต ซึ่งจังหวัดฝั่งอันดามันไม่มีโรงไฟฟ้าหลัก จากปัจจุบันมีอยู่ที่ขนอมกับจะนะ ก็เป็นฝั่งอ่าวไทย จังหวัดภูเก็ตจึงต้องพึ่งระบบสายส่ง”
ระบบสายส่งเฟสแรกที่แล้วเสร็จ ในส่วนจากบางสะพานถึงสุราษฎร์ธานีแล้วต่อไปที่ภูเก็ต เติมไฟฟ้าให้ภาคใต้ได้อีก 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าภาคใต้ปัจจุบันอยู่ที่ 4,670 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังมีส่วนเสริมจากการเชื่อมโยงระหว่างประเทศกับมาเลเซีย ซึ่งมีมานานแล้ว ได้ไฟฟ้าอีกประมาณ 300 เมกะวัตต์ ทำให้ตัวเลขไฟฟ้าภาคใต้รวมเบ็ดเสร็จเกือบ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าไปได้อีกหลายปี
“เพราะฉะนั้นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้จึงไม่มีปัญหา ในปี 2566 แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น ที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากยังมีส่วนต่างจากกำลังการผลิตอยู่ค่อนข้างเยอะ”
นายวีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ในปี 2570 ก็คือโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่อาจจะมีปัญหาเนื่อง จากปัจจุบันแก๊สมีราคาค่อนข้างสูง และยังไม่มีท่อแก๊สผ่านสุราษฎร์ธานี แต่มีอยู่ในแผน และการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยนํ้าที่อ่างเก็บนํ้าเหนือเขื่อน ซึ่งในภาคใต้มี 2 แห่ง คือ เขื่อนเชี่ยวหลาน ประมาณปี 2572 และเขื่อนบางลาง ในปี 2573 เพื่อผลิตเสริมในช่วงกลางวัน
สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่29 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566