กนอ.ยกระดับอุตสาหกรรม รับ 6 เมกะเทรนด์

01 ก.พ. 2566 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 07:01 น.

กนอ.ยกระดับอุตสาหกรรม รับ 6 เมกะเทรนด์ : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย...รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3858

สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งโอกาสของภาคอุตสาหกรรม บวกกับการเข้ามามีบทบาทของ 6 เมกะเทรนด์ จะส่งผลต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมควรพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับ 6 เมกะเทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทั้งหมดนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมตัวเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ 6 เมกะเทรนด์จะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ดังนี้ 2 เทรนด์ต้องเร่งทำ ได้แก่ Digitalization และ Globalization 2 เทรนด์ต้องเร่งเสริม ได้แก่ New Technology และ Collaborative Business Modelsและ 2 เทรนด์ต้องเร่งตระหนัก ได้แก่ Aging Societies และ BCG Economy

2 เมกะเทรนด์ “ต้องเร่งทำ” เพื่อสร้างโอกาสการทางการตลาดให้ธุรกิจ 1. Digitalization ตั้งแต่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้ามีการหมุนเวียนเร็วขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว นำสินค้าเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็ว

2. Globalization/ Deglobalization  เกิดการแบ่งขั้วอำนาจของโลกชัดเจนขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ โอกาส คือ ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต

ขณะที่ความท้าทาย คือ  เมื่อเกิดการแบ่งขั้วมหาอำนาจของโลกเริ่มชัดเจนขึ้น ทำให้ประเทศในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งเราจะต้องหาโอกาสว่า จะทำอย่างไรที่จะทำการค้ากับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ โดยที่ประเทศเราได้ประโยชน์ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของโลกที่แบ่งขั้ว

อย่างไรก็ตาม กนอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็มีแนวทางในการสร้างโอกาสจากความท้าทายนี้ อาทิ เร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการโรดโชว์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศที่เจาะจง และปรับตัวให้ทันต่อระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป จากกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น

2 เมกะเทรนด์ที่ “ต้องเร่งเสริม” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม  3. New Technologies ได้แก่ 5G, AI และ IoT ต่างๆ จะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจ ในการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ Big Data ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในด้านของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ, Mobile Banking, การตรวจรักษาและการผ่าตัดผ่านระยะไกล ไปจนถึงสมาร์ทซิตี้ ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยครอบคลุมถึงการสัญจรของพาหนะ เศรษฐกิจ และสังคม ที่สามารถเชื่อมต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว  

4. Collaborative Business Models การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องอยู่ในรูปแบบการร่วมมือและพึ่งพากัน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มซัพพลายเชนเดียวกัน ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุดในด้านการผลิตและการตลาด 

ในส่วนของเมกะเทรนด์ที่ต้องเร่งเสริมนี้ กนอ. ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนเมกะเทรนด์ โดยการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เพื่อรองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น   

โดยออกแบบวางโครงข่ายระบบ 5G ในพื้นที่นิคมฯ ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค เช่น Smart Grid ในนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567  

และเมกะเทรนด์ต้อง “เร่งตระหนัก” ได้แก่  5. Aging Societies จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ปี 2593 ผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากปัจจุบัน หรือ มากกว่า 3,400 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่จะจัดหาสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น 

                                  กนอ.ยกระดับอุตสาหกรรม รับ 6 เมกะเทรนด์

6. BCG Economy โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติด้วย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกของภาคธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดที่ภาคธุรกิจต้องให้ความตระหนัก

เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในประเทศฝั่งยุโรปได้ดำเนินการอย่างจริงจังด้วยการตั้งกำแพงภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเริ่มใช้จริงในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับการดำเนินงานของ กนอ. ที่มีส่วนสนับสนุนเมกะเทรนด์ในกลุ่มนี้ อาทิ กนอ.มีการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมให้สอดรับกับเทรนด์ใหม่ของโลก ที่ต้องการให้เกิดการสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยาวนาน และเข้มข้นขึ้น

โดยมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ใช้องค์ความรู้ของภาคอุตสาหกรรมช่วยยกระดับสินค้าและบริการของชุมชน ในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วม ให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก  

กนอ. มุ่งเน้นการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมให้สอดรับกับเทรนด์ใหม่ๆ ของโลก ผ่านการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการส่งเสริมให้โรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)

สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ๆ ที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน ซึ่งจะตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาวได้มากกว่า เพื่อเศรษฐกิจชุมชนเติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน