พันธกิจปั้นบุคลากร สู่ เทคคัมปานี  แบบ “WHA”    

05 ก.พ. 2566 | 01:45 น.

ผู้นำ WHA เปิดวิชั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ เทคคัมปานี ภายใน 3 ปี เริ่มต้นเป้าหมายชัด ประกาศพันธกิจ Mission to The Sun พร้อมทำงานควบคู่ทีมเอชอาร์ จัดเวิร์คช้อประดมสมองทีมงาน How WHA will Look like?   

“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว ในงาน Thailand HR Day 2022 ของ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT ในหัวข้อ 2023 HR Challenges in CEO Perspective ว่า การทำงานของเอชอาร์ในยุคนี้ ต้องทำงานร่วมกับผู้บริหาร และรับรู้ถึงทิศทางธุรกิจ รวมถึงนโยบายขององค์กรต้องเดินหน้าไปอย่างไร ซึ่งแนวทางของ WHA คือ การตั้งเป้าสู่เทคคัมปานีในแบบของ WHA ภายใน 3 ปี (นับจากปี พ.ศ.2565) 
  พันธกิจปั้นบุคลากร สู่ เทคคัมปานี  แบบ “WHA”        

ผู้นำ WHA ได้กำหนดพันธกิจ Mission to The Sun วางโรดแมปในการเดินหน้าสู่เทคคัมปานี โดยทำเวิร์คช้อป ระดมสมองทีมงานภายในองค์กร คนหาว่า How WHA will Look like? และ WHA จะไปอย่างไรต่อ โดยให้ทุกคมีสิทธิแสดงความคิดเห็น

“ไม่ใช่ผู้บริหารบอกให้ทำ แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาเป็นคนคิด โดยมีผู้บริหารทำหน้าที่ซัพพอร์ต วิธีการนี้ จะช่วยทำให้ฝ่ายเอชอาร์ทำงานได้ง่ายขึ้น”
    

จากมิชชั่นที่วางไว้ หากฝ่ายเอชอาร์บอกว่า ทาเลนต์ที่มีความสามารถหายาก...แค่คุณคิด ก็ติดลบแล้ว สำหรับการปรับความคิด ปรับตัวให้พร้อมเพื่อการเดินหน้าสู่เป้าหมาย ก็ต้องคิดหาวิธีดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เงิน เพราะการที่ดึงคนเข้ามาด้วยเงิน เขาก็จะจากไปด้วยเงินเช่นกัน

พันธกิจปั้นบุคลากร สู่ เทคคัมปานี  แบบ “WHA”    

แน่นอนว่า เงิน คือปัจจัยสำคัญ แต่หากองค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี คนทำงานเข้ามาแล้วมีความสุข ได้แสดงศักยภาพ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตนและมีประโยชน์กับองค์กร และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ทำให้คนทำงานรู้สึกว่า เขาเป็นคนที่มีค่าต่อองค์กร และองค์กรสามารถปั้นเขาขึ้นไปได้ นั่นคือ คุณค่าของคน คนทำงานต้องมี growth mindset และองค์กรต้องมีกลยุทธ์
   พันธกิจปั้นบุคลากร สู่ เทคคัมปานี  แบบ “WHA”      

เริ่มจาก ทำเรื่อง Employer Branding ซึ่งขณะนี้ WHA ติดอันดับ 50 ขององค์กรที่คนต้องการมาทำงานด้วย หลังจากนั้นสร้าง WHA DNA และทำเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพของคนทำงาน (Capabilities Building and Enhancement) ให้สามารถรองรับงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และที่สำคัญคือ ต้องสร้างให้คนทำงานจนพร้อมเกษียณ มีการสร้างซัคเซสเซอร์ขึ้นมา (Pipeline of Talents and Leaders to ensure business sustainable growth) อันนี้สำคัญมาก ถ้าองค์กรคิดว่า ขาดคนๆ นี้แล้วองค์กรตาย อันนั้นคือ ผิด 
    

หรือถ้าพนักงานคนนั้นเกษียณไม่ได้ องค์กรต้องทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ เอชอาร์ต้องเตรียมความพร้อม ต้องคิดและทำให้ล้อไปกับนโยบายบริษัท ซึ่งแต่ละองค์กรจะไม่เหมือนกัน 
   พันธกิจปั้นบุคลากร สู่ เทคคัมปานี  แบบ “WHA”      

ในส่วนของผู้นำเอง ก็ต้องเตรียมพร้อมหากเกิดปัญหาหรือภาวะเสี่ยง และจะนำความสำเร็จในอดีต  มาเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในอนาคตไม่ได้ ดังนั้น ผู้นำต้องดูว่า ข้างหน้ามันจะไปต่ออย่างไร (Visionary Leadership) ซึ่งสิ่งที่ WHA มอง คือ การมองภาพใหญ่ มองเทรนด์ของโลก พร้อมกับศึกษาศักยภาพของตัวเอง แล้ววางแผนที่ล้ำไปข้างหน้า แม้ภาพจะยังไม่ชัด ก็ต้องทดลองทำ อะไรที่ใช่คือทำต่อ อะไรที่ไม่ใช่ต้องรีบเอาออกไป เพราะถ้าภาพทุกอย่างชัด นั่นคือ คุณเป็นองค์กรที่ตามหลังคนอื่นแล้ว 
    

“จรีพร” ทิ้งท้ายว่า การทำงาน องค์กรสร้างอะไรมากมาย แต่หากไม่รู้จักที่จะรับฟังคนของตัวเอง เขาเสนออะไรมาก็ฆ่าทิ้งหมด แบบนั้นไม่ใช่องค์กรที่ดีแน่นอน...เราต้องให้เขาลอง เพื่อสร้างคน เพื่อหล่อหลอมให้เขาเกิดความคิด สร้างสรรค์ไอเดีย ไม่ใช่เอาแต่บอกให้เขาทำ แบบนั้นคือ จบ

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 - 4  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566