นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ว่า
การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ของมีแผนงานการพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) พร้อมปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวน และจำหน่ายเอกสารอาร์เอฟพี ได้ในเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2566 เป็นช่วงที่ให้เอกชนเตรียมข้อเสนอ และชี้แจงข้อคิดเห็น ก่อนที่จะมีการยื่นข้อเสนอในเดือนกันยายน 2566 ในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 คณะกรรมการคัดเลือกประเมินข้อเสนอ เจรจาร่างสัญญา และสรุปผลการคัดเลือกฯ
หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาได้ไม่เกินกลางปี 2567 ก่อนจะมีการเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2569 โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวมีอายุสัญญาสัมปทานรวม 32 ปี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี
ส่วนในเรื่องของผลตอบแทนนั้น เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน (PPP Net Cost) จึงจะใช้วิธีให้เอกชนจ่ายผลตอบแทนเป็นรายปี ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลข แต่เดิมกำหนดราคาไว้ โดยแบ่งเป็น โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้จะต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนทุกๆ 3 ปี
“ปัจจุบันเราพร้อมส่งมอบพื้นที่ทั้ง 2 โครงการแล้ว 100% และโครงการนี้ ถือเป็นโครงการพัฒนาที่พักริมทาง โครงการแรกที่เปิดให้เอกชนไทย ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทย เข้าร่วมการประมูลเท่านั้น โดยโครงการนี้ไม่ได้เปิดให้เอกชนต่างชาติเข้าร่วมลงทุน เนื่องจากมองว่าเอกชนไทยมีศักยภาพเพียงพออยู่แล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการบางส่วนในระยะแรก ได้ภายหลังการก่อสร้าง 1 ปี อาทิ ห้องน้ำ และลานจอดรถ เพราะหากรอให้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการตามระยะเวลา 2 ปี อาจนานเกินไป”
สำหรับโครงการที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด จำนวน 2 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 2,382.02 ล้านบาท ได้แก่ 1.สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (Bang Lamung Service Area) พื้นที่ฝั่งละ 38 ไร่ วงเงินลงทุน 766.45 ล้านบาท
แบ่งเป็นวงเงินก่อสร้าง 634.16 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 132.29 ล้านบาท และ 2.ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center) พื้นที่ฝั่งละ 59 ไร่ วงเงินลงทุน 1,615.57 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินก่อสร้าง 831.34 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 784.23 ล้านบาท
นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปีนี้จะเตรียมให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จำนวน 2 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 5,625 ล้านบาท ได้แก่
1.มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 3,270 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 8 ตำแหน่ง ได้แก่ จุดพักรถวังน้อย จุดพักรถหนองแค สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี จุดพักรถทับกวาง ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง จุดพักรถลำตะคอง สถานที่บริการทางหลวง สีคิ้ว และจุดพักรถขามทะเลสอ
2.ที่พักริมทาง บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 2,355 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี สถานที่บริการทางหลวงนครปฐม และจุดพักรถท่ามะกา โดยภายในปี 2566 นี้จะดำเนินการเปิดประมูลแล้วเสร็จ และคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในปี 2567
จากนั้น จะก่อสร้างมีแผนเปิดทดลองบริการพื้นฐานบางส่วน ได้แก่ ห้องน้ำ ที่จอดรถ และร้านค้าบางส่วนในปี 2568 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569