การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ เบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2566 เริ่มขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
ล่าสุดรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 118,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4.8% หรือราว 5,468 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 ที่ได้รับ วงเงิน 113,348 ล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุน วงเงิน 112,855 ล้านบาท คิดเป็น 95% งานบุคลากร จำนวน 4,859 ล้านบาท คิดเป็น 4% งบรายจ่ายอื่น จำนวน 631 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% งบดำเนินงาน จำนวน471 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% และงบเงินอุดหนุน 1 ล้านบาท คิดเป็น 0.0006%
รายงานข่าวจากทล. ระบุว่า ในปี 2566 มีแผนจะเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 98,231 ล้านบาท ปัจจุบันทล.เตรียมเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ในรูปแบบการลงทุนPPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดให้บริการในปี 2568 ประกอบด้วย 2 โครงการ 1.โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) พื้นที่ 121 ไร่ วงเงิน 3,757 ล้านบาท เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ บริเวณ กม.93+750 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม ซึ่งเป็นจุดหลักในการแวะพักสำหรับผู้ใช้ทาง
2.โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) พื้นที่ 77 ไร่ วงเงิน 2,476 ล้านบาท เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง บริเวณ กม.137+800 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะพักหลักเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ทาง ขณะเดียวกันเตรียมเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบการลงทุนPPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดให้บริการในปี 2568
ประกอบด้วย 3.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) สัญญาที่ 1 พื้นที่ 164 ไร่ วงเงิน 4,644 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง 5 แห่ง ประกอบด้วย วังน้อย,หนองแค,สระบุรี,ทับกวางและปากช่อง 4.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) สัญญาที่ 2 พื้นที่ 199 ไร่ วงเงิน 4,423 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง 5 แห่ง ประกอบด้วย ทับกวาง,ปากช่อง,ลำตะคอง,สีคิ้วและขามทะเลสอ
5.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) พื้นที่ 216 ไร่ วงเงิน 5,827 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง 3 แห่ง ประกอบด้วย นครชัยศรี,เมืองนครปฐมและท่ามะกา
ทั้งนี้ในปี 2566 ทล.จะเปิดประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) อีก 2 โครงการ ประกอบด้วย 6.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วง รังสิต – บางปะอิน (M5) หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรลล์เวย์ ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 31,375 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและงานระบบ 31,303 ล้านบาท และ ค่าเวนคืน 72 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดPPP) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว หลังจากนั้นจะใช้เวลา 1-2 เดือน ในการตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อจัดทำเอกสารประกาศประกวดราคา (RFP) คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Gross Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี ภายในช่วงปลายปี 2566 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2567-2570 เปิดให้บริการปี 2571
7.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 24.7 กิโลเมตรกิโลเมตร (กม.) วงเงิน 45,729 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าก่อสร้างงานโยธา 30,523 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน 15,206 ล้านบาท เบื้องต้นกรมฯเร่งดำเนินโครงการ PPP โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในรูปแบบการร่วมลงทุน (PPP) แล้ว โดยกรมฯจะเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost สัญญาสัมปทาน 32 ปี ภายในกลางปี 2566 และเริ่มก่อสร้างติดตั้งงานระบบช่วงแรกภายในปลายปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดทั้งสายพร้อมงานระบบเก็บเงินค่าผ่านทางได้ในปี 2568