มติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ คณะกรรมการ Board PPP สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565
อนุมัติรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 และการให้เอกชนร่วมลงทุนมอเตอร์เวย์ M82 บางขุนเทียน – บ้านแพ้ว
ในส่วนของการก่อสร้างงานระบบ พร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งให้เร่งดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก
โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้น
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ คณะกรรมการ PPP สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้พิจารณาเห็นชอบโครงการ การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง
บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา และหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี รวมถึงการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว สำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)
การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา ประกอบด้วยที่พักริมทาง 8 ตำแหน่ง ได้แก่ จุดพักรถวังน้อย จุดพักรถหนองแค สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี จุดพักรถทับกวาง ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง จุดพักรถลำตะคอง สถานที่บริการทางหลวง สีคิ้ว และจุดพักรถขามทะเลสอ
วงเงินลงทุนรวมตลอดทั้งสัญญากว่า 9,500 ล้านบาท และการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ประกอบด้วยที่พักริมทาง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี สถานที่บริการทางหลวงนครปฐม และจุดพักรถท่ามะกา วงเงินลงทุนรวมตลอดทั้งสัญญากว่า 6,400 ล้านบาท รวมทั้ง 2 สาย ตลอดทั้งสัญญากว่า 15,900 ล้านบาท
โดยภาคเอกชนลงทุนออกแบบก่อสร้าง จัดให้มีที่พักริมทางรวมถึงงานระบบ การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ตามมาตรฐานและข้อกำหนดกรมทางหลวง
ตลอดจนดูแล บำรุงรักษา บูรณะ และบริหารจัดการตลอดระยะเวลา 32 ปี (นับตั้งแต่วันที่เริ่มลงมือก่อสร้าง) โดยมีแผนเปิดทดลองบริการพื้นฐาน ได้แก่ ห้องน้ำ ที่จอดรถ และร้านค้าบางส่วน ภายในสิ้นปี 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมสายทางหลักในปี 2567
สำหรับโครงการร่วมลงทุน O&M มอเตอร์เวย์เวย์ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินลงทุนรวมตลอดสัญญากว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างงานระบบ พร้อมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้างและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ
โดยมีรูปแบบงานระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม่กั้น หรือ M-Flow รวมถึงให้เอกชนดำเนินงานระบบอำนวยการและบริหารจัดการจราจร ตลอดจนดูแล บำรุงรักษา บูรณะ และบริหารจัดการตลอดระยะเวลา 32 ปี (นับตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างงานระบบ)
โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจทางอ้อม มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีศักยภาพสูงสุด
ด้าน ดร.ธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน (19 ส.ค. 65) ยังมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ
เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและนักลงทุน (Market Sounding) เพื่อการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ ในรูปแบบการประชุมทางไกลโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 160 คน ประกอบด้วย สถาบันการเงิน ที่ปรึกษาการร่วมลงทุน ผู้แทนจากกลุ่มผู้รับเหมา หน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ภาคเอกชน
รวมถึงหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย เข้าร่วม สำหรับโครงการ การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ได้เคยเห็นชอบในหลักการของโครงการ
โดยอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบทางหลวงสัมปทาน ด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งการทบทวนผลการศึกษาได้เสนอให้ดำเนินการปรับปรุงรูปแบบโครงการในส่วนต่าง ๆ เพื่อลดค่าลงทุนโครงการ รวมถึงผลกระทบต่อประชาชน เช่น
การปรับรูปแบบโครงการจากถนนระดับดินบนเข็มเป็นรูปแบบสะพานบก ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางด้านการเวนคืนที่ดินของประชาชน ลดค่าก่อสร้าง การนำระบบ M-Flow มาใช้กับโครงการแทนการจ่ายเงินที่พนักงาน และลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ให้ผู้ใช้ทาง เป็นต้น ซึ่งสามารถลดมูลค่าก่อสร้างได้กว่า 3,200 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับการศึกษาครั้งที่ผ่านมา รวมถึงมีแนวคิดที่จะทำการก่อสร้างเป็นช่วง เพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในการประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็นและหาแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงการ รวมถึงข้อมูลด้านการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร
สำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาประกอบใช้ในการดำเนินโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพสูงสุด